Featured Stories
ลวดลายร้อยเรียงเรื่องราว
เบญจรงค์ลายพุ่มข้าวบิณฑ์พื้นดำหรือที่เรียกว่า “กบิณฑ์ดำ” และ “กบิณฑ์” (กร่อนมาจากคำว่า “บิณฑ์”) ที่เรียกกันในหมู่นักสะสมนั้นเป็นอีกหนึ่งชิ้นไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาด เพราะโดยส่วนใหญ่เราจะเห็นลวดลายอันงดงามนี้บนพื้นสีทอง
ลายพุ่มข้าวบิณฑ์มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลี คำว่า “ปิณฑะ” แปลว่า ข้าวที่ปั้นเป็นก้อน ลวดลายลักษณะนี้เป็นลายไทยที่ได้รับความนิยมมากที่สุดลวดลายหนึ่งจากจำนวนทั้งหมด 11 ลายด้วยดีไซน์ที่อ่อนช้อยงดงามซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติ
ที่มาของชื่อลายพุ่มข้าวบิณฑ์อิงจากรูปแบบของลายที่ดูคล้ายกับพานพุ่มข้าวบิณฑ์ พานดอกไม้หรือพานแว่นฟ้าที่มีรูปทรงคล้ายดอกบัวและมีก้านต่อออกมาจนเกิดเป็นลายเรขาคณิตที่ได้สัดส่วนสมมาตร นอกจากนี้มีการนำลายอื่นๆ มาตกแต่งร่วมกับลายพุ่มข้าวบิณฑ์จนเกิดเป็นรายละเอียดที่งดงามมากขึ้น เช่น ลายพุ่มข้าวบิณฑ์หน้าสิงห์ ลายพุ่มข้าวบิณฑ์กระหนกใบเทศ เป็นต้น
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่าลายพุ่มข้าวบิณฑ์ปรากฏตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) พ.ศ. 2325-2352 เพราะเครื่องถ้วยในสมัยนั้นมีลวดลายที่หลากหลายและมีสีสันที่สวยงามกว่าสมัยอยุธยา
สำหรับชิ้นไฮไลท์นี้คาดว่ามาจากสมัยรัชกาลที่ 4 หรือรัชกาลที่ 5 ซึ่งสมัยก่อนมักทำเป็นชุดเลขคี่เพราะเชื่อว่าเลขคี่เป็นเลขมงคล
นอกจากจะปรากฎบนเครื่องถ้วยชาม ลายพุ่มข้าวบิณฑ์สามารถพบเห็นได้ในสถาปัตยกรรมไทย ที่เด่นชัด เช่น เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ในสมัยสุโขทัยอันเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์และการกินดีอยู่ดีของประชาชน และใช้เป็นลายสำหรับตกแต่งผนังของสถานที่ต่างๆ รวมถึงข้าวของเครื่องใช้อย่างเช่น ตู้พระธรรม
Lot 671
ชามมีฝาปิดเบญจรงค์ลายพุ่มข้าวบิณฑ์บนพื้นสีดำ (กบิณฑ์) จำนวน 1 ชิ้น
สไตล์ไทยรัตนโกสินทร์จากศตวรรษที่ 19
ขนาด: กว้าง 16.5 ซม. สูง 11 ซม.
ราคาเริ่มต้น 20,000 บาท
ราคาประเมิน 40,000 – 50,000 บาท ประมูลชิ้นงานลิ้งค์นี้