Featured Stories
สีสันแห่งเครื่องถ้วยชามชั้นสูงในอดีต
นอกจากลายดิน น้ำ ลม ไฟ อันหายากและเป็นที่ปรารถนาในหมู่นักสะสมเครื่องเบญจรงค์ ไฮไลท์ชิ้นนี้มีความพิเศษยิ่งขึ้นด้วยการใช้โทนสีเขียว เช่นเดียวกับเครื่องเคลือบหลากสีของจีนซึ่งมีคำเฉพาะคือ ‘famille’ (ฟามีย์) หรือ ‘ตระกูล’ เช่น ฟามีย์โรส (สีชมพู) ฟามีย์แว็ต (สีเขียว) เพื่อบ่งบอกสีสันที่ใช้แต่งแต้ม
‘เบญจรงค์’ ของไทยเรามาจากคำว่า ‘เบญจ’ แปลว่า ห้า และ ‘รงค’ แปลว่า สี ซึ่งในที่นี้หมายถึง สีแดง สีเหลือง สีขาว สีดำ สีน้ำเงิน และสีเขียว จึงกล่าวได้ว่าชิ้นงานนี้ตรงตามเอกลักษณ์ดั้งเดิมของความเป็นเครื่องเบญจรงค์ เครื่องถ้วยชามชั้นสูงที่ใช้ในราชสำนักของไทยในสมัยโบราณ ถึงแม้จะได้รับอิทธิพลและขั้นตอนการผลิตบางส่วนจากจีนก็ตาม
เบญจรงค์มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาและได้รับความนิยมมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ซึ่งเกิดลวดลายเฉพาะในแบบไทยมากมายรวมถึงการใช้สีทองที่เรียกว่า ‘ลายน้ำทอง’
การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2325 มีแขกบ้านแขกเมืองเข้ามายังเมืองสยาม อีกทั้งมีงานสมโภชน์พระพุทธรัตนมหาปฏิมากร (พระแก้วมรกต) จึงมีการตั้งเครื่องคาวหวานสำหรับพระชั้นผู้ใหญ่
มาถึงสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 (ครองราชย์ระหว่างปีพ.ศ. 2352 – 2367) ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ศิลปะ จะเห็นได้ชัดว่าวัฒนธรรมการรับประทานอาหารมีบทบาทสำคัญและต่อยอดมาถึงเครื่องถ้วยชามที่ใช้อันบอกถึงรสนิยมและความศิวิไลซ์ พระบรมราชินีในสมัยรัชกาลที่ 2 ทรงมีพระปรีชาสามารถในการทำอาหารและทรงสั่งให้จีนเขียนลายเบญจรงค์ขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อใช้ในราชสำนัก ส่วนพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์กาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวานอันสะท้อนถึงภาพของอาหารไทยในราชสำนักได้ชัดเจนที่สุด
เบญจรงค์จึงเป็นเสมือนหน้าตาของประเทศในสมัยโบราณอันบ่งบอกถึงวัฒนธรรมการกินอย่างมีศิลปะไม่แพ้ชาติตะวันตก และเป็นบันทึกให้คนรุ่นหลังได้ทราบถึงวัฒนธรรมการบริโภคของพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์และชนชั้นสูงของไทยในอดีต
ชมชิ้นงานและเข้าร่วมประมูลในงาน Live Auction วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคมคลิก