Featured Stories
เจว๋
ร่องรอยแห่งปฐมบทราชวงศ์จีนมาสู่จอกลายครามอันวิจิตรงดงาม
เมื่อกล่าวถึงจอกศักดิ์สิทธิ์ เรามักจะนึกถึงตำนานศาสนาและนวนิยายจากวัฒนธรรมตะวันตก ส่วนทางฝั่งตะวันออกนั้นก็มีเรื่องราวทำนองเดียวกัน อย่างเช่นภาชนะสำหรับใส่เครื่องดื่มประเภทนี้ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมอ้างอิงประวัติศาสตร์จีนเรื่อง สามก๊ก
ไฮไลท์จาก Timed Auction ชิ้นนี้พาเราย้อนไปสู่ประวัติศาสตร์จีนในยุคสำริดในสมัยราชวงศ์ชาง (Shang Dynasty) ในปี 1700 – 1027 ก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นราชวงศ์แรกและเก่าแก่ที่สุดของจีนตามบันทึกทางประวัติศาสตร์และการค้นพบทางโบราณคดี ซึ่งในเวลานั้นเริ่มมีการใช้สำริดเพื่อทำภาชนะบรรจุสุรารูปทรงต่างๆ อีกทั้งมีการพัฒนาการใช้วัสดุประเภทนี้ในขั้นสูงจนเกิดเป็นชิ้นงานอันยอดเยี่ยมที่บ่งบอกถึงร่องรอยวัฒนธรรมเครื่องทองสำริดจากยุคดังกล่าวที่ถูกค้นพบเป็นจำนวนมาก
จอกสำหรับใส่สุราเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ถ่ายทอดถึงความเฟื่องฟูของยุคสมัย ภาชนะประเภทนี้ปรากฏเป็นรูปทรงต่างๆ ที่สวยงามและมีชื่อเรียกเป็นภาษาจีนที่แตกต่างกันไป เช่น ‘กู’ หรือ 觚 (Gū) มีรูปทรงสูงคล้ายแตร ส่วน ‘เจี่ยว’ หรือ 角 (Jiǎo) เป็นรูปทรงคล้ายตัวอักษร U ในภาษาอังกฤษ และมีขาสามขา สำหรับชิ้นไฮไลท์นี้มีชื่อเรียกว่า ‘เจว๋’ หรือ 爵 (Jué) มาพร้อมกับรูปทรงคล้ายตัวอักษร U และขาสามขา แต่สิ่งที่ทำให้ภาชนะที่เรียกว่า ‘เจว๋’ โดดเด่นคือพวยสำหรับรินเครื่องดื่ม
นอกจากประโยชน์ใช้สอย เจว๋เป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นสูง ชาวจีนในสมัยดังกล่าวนิยมฝังภาชนะประเภทนี้ไว้ในหลุมฝังศพของพวกปัญญาชนคนชั้นสูง และเป็นเครื่องใช้ของกษัตริย์สำหรับประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อรินสุราและการใช้กระดูกเสี่ยงทายสำหรับปลุกวิญญาณของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ
แม้ชิ้นไฮไลท์นี้มาในรูปแบบเครื่องกระเบื้องลายคราม มิได้สร้างสรรค์จากสำริด แต่นับได้ว่าเป็นชิ้นงานที่หายากซึ่งมีรูปทรงอันอ่อนช้อยและแปลกตา อันเป็นสิ่งที่อ้างอิงถึงอารยธรรมจีนโบราณนับตั้งแต่ราชวงศ์แรกของจีนซึ่งมีอายุนานนับพันปี
Lot 683 จอกเหล้าสามขากระเบื้องเคลือบน้ำเงินขาวลายทิวทัศน์ สไตล์จีนโบราณ
สไตล์จีนโบราณจากศตวรรษที่ 19
คลิกประมูลชิ้นงานนี้ที่ลิ้งค์นี้