Featured Stories
ในขณะที่วัยของคนเราผ่านไป งานศิลปะกลับเด็กลงได้อย่างไร ตอนที่ 2
วันเสาร์ฉันตั้งนาฬิกาปลุกแต่เช้าเพื่อเดินทางไปสตูดิโอของอุดมที่ชานเมือง ฉันมาไวกว่าเวลานัดเล็กน้อย จึงได้เดินดูสตูดิโอของอุดมก่อนคุยกัน มันเป็นตึกหลังคาสูงโปร่ง อุปกรณ์ทำงานศิลปะและงานชิ้นต่างๆ กระจายอยู่ตามมุมห้อง ซึ่งตลอดสามครั้งที่มาไม่มีครั้งไหนเลยที่ทุกอย่างอยู่จุดเดิม
ฉันนั่งตรงโต๊ะไม้กลางห้องที่มีกระดาษ พู่พัน ปากกา สี และ ‘เทพทำใจ’ วางระเกะระกะอยู่จนรกเต็มโต๊ะรอบสตูดิโอมีต้นไม้อยู่เต็ม และเมื่อเงี่ยหูฟัง จะได้ยินเสียงนกร้อง
“การทำอาชีพเป็นตลกในประเทศไทยเหมือนสวมชุด mascot บางทีข้างในเหงื่อก็ไหล คันก็คันแต่ mascot ก็จะไม่บ่น จะยังคงสดใสเฮฮาให้คนถ่ายรูป” อุดมกล่าวเช่นนั้น
“งานศิลปะมันเลยเป็นการรักษาสมดุลในการมีชีวิตอยู่” อุดมในวันนี้ทำงานศิลปะโดยไม่สนใจกฎเกณฑ์หรือเสียงชื่นชมอะไร เขาทำเหมือนเก็บไว้ดูคนเดียวด้วยซ้ำ ทำจนเหมือนมันเป็นงานหลักของชีวิตไปแล้ว ตามคำพูดที่เขาบอกเสมอว่างานศิลปะเป็นงานหลัก ส่วนเดี่ยวไมโครโฟนเป็นงานอดิเรก เพราะใครกันจะสามารถใส่ชุด mascot ได้ทุกวัน
สมดุลในชีวิตของอุดมจึงเกิดขึ้นเพราะเมื่อทำงานศิลปะอุดมไม่ต้องใส่ชุด mascot สังคมอาจคาดหวังให้นักแสดงตลกต้องเฮฮาและมีความสุขเสมอไม่ว่าจะเจออะไร แต่ในสตูดิโอที่สงบเงียบแห่งนี้ อุดมเป็นแค่ปุถุชนคนหนึ่ง และเขาสามารถพูดได้ทุกเรื่องผ่านศิลปะ แม้ว่าบางเรื่องจะไม่เหมาะกับการพูดตอนใส่ชุด mascot ก็ตาม
ฉะนั้น ในขณะที่เดี่ยวไมโครโฟนคือการเล่าเรื่องชีวิตของเขาให้คนอื่นฟัง เราพบว่าศิลปะเป็นภาษาที่อุดมเล่าเรื่องชีวิตให้ตัวเองฟัง เมื่อพบการเลิกราที่เจ็บปวดเกินกว่าจะอยากเจอใคร เขาจะทำงานศิลปะ เมื่อพบเจอเหตุการณ์เจ็บช้ำน้ำใจ เขาจะทำงานศิลปะ เมื่อใคร่ครวญถึงบทเรียนในชีวิต เขาจะทำงานศิลปะ หรือบางครั้งเขาก็แค่รู้สึกว่าอยากทำงานศิลปะ ทำ ทำ ทำ และค่อยๆ เรียนรู้จากการทำนั่นเองว่าความรู้สึกแบบไหนที่ผลักให้เขาอยากทำงานศิลปะชิ้นนั้นขึ้นมา เขาบอกว่ามันเป็นไดอารี่ชีวิตเขา ฉันเห็นด้วย ด้วยความไม่มีกฎและคนดู ไดอารี่ส่วนนี้ของเขาจึงมีการทดลองใหม่ๆ อยู่เต็มไปหมด เขาทำงานทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ทั้งดินเผา เซรามิค อีพ็อกซี่ วาดบนผ้าใบ บนไม้ บนแผ่นอะคริลิค และรวมไปถึงการพยายามค้นหาวิธีการทำงานใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ “พี่โน้ตไม่มีจุดที่นิ่ง พี่โน้ตหานู่นนี่ทำไปเรื่อย” งานศิลปะของพี่โน้ตจึงไม่เหมือนจุดหมายปลายทาง แต่เหมือนการเดินทางที่ยังคงดำเนินต่อไป อย่างว่า ชีวิตก็เป็นเช่นนั้นไม่ใช่หรือ?
หลังจากฉันนั่งรอสักพัก อุดมเดินเข้ามาผ่านประตูกระจกด้านหน้า อุดมเล่าให้ฉันฟังว่าน้องสัตว์ประหลาดยักษ์ขนาดตัวเท่าคนที่อยู่เต็มสตูดิโอในวันก่อนได้ถูกย้ายไปเก็บที่โกดังเพื่อเตรียมตัวขึ้นเวทีเดี่ยวไมโครโฟน 13 ในหัวของเขาเห็นภาพเหล่าน้องสัตว์ประหลาดอยู่เต็มเวที และเขาเล่าถึงมันออกมาด้วยน้ำเสียงมีความสุข เขาอุ้มน้องสัตว์ประหลาดตัวหนึ่งมาวางบนโต๊ะ หากการพูดคุยกินระยะเกินชั่วโมง เขาพักเดินดูน้องงานศิลปะของเขา เมื่อพูดถึงศิลปะ มันคือชีวิตส่วนที่เขาสบายตัว ที่ไม่ต้องพยายามปั้นหน้า ไม่ต้องเซนเซอร์ตัวเอง อุดมจึงพูดถึงงานศิลปะด้วยแววตาเป็นประกาย
น้องสัตว์ประหลาดที่จะอยู่บนเวทีเดี่ยวไมโครโฟน 13 เป็นหุ่นทำจากอีพ็อกซี่ อุดมทำมาร่วมสองปีได้แล้ว ตอนแรกเขาไม่ได้คิดวางแผนจะทำจำนวนเท่าไหร่หรือเพื่ออะไร แต่จากหนึ่งตัวก็กลายเป็นสอง กลายเป็นสิบ กลายเป็นร้อย ขนาดเริ่มขยายจากในกระดาษ กลายเป็นตัวเท่าเข่า จนถึงตัวขนาดใหญ่เท่าคน
สิ่งที่เรารักเกี่ยวกับเหล่าน้องสัตว์ประหลาดคือ ทุกตัวต่างมีความไม่สมบูรณ์แบบในตัวน้องเอง อุดมมีทั้งน้องปลาฉลามเจ้ากรรมดันว่ายน้ำไม่ได้ต้องใส่ห่วงยาง น้องฮิปโปโปตัวอ้วนตอแหลใส่รองเท้าส้นสูงที่ไซส์รองเท้าใหญ่จนเหมือนขโมยแม่มา หรือน้อง (ดูเหมือน) กิ้งก่ายิ้มยิงฟันที่มีเลื่อยฟันอยู่ที่คอ ทุกตัวหน้าตาดูมีความสุข แม้ว่าความไม่สมบูรณ์แบบเหล่านั้นจะเห็นอยู่ทนโท่ และสำหรับฉันมันไม่ยากเลยที่จะผูกพันกับน้องสัตว์ประหลาดสักตัวของอุดม ในเมื่อเราต่างมีความไม่สมบูรณ์แบบบางอย่างเหมือนน้องเหล่านั้น และเราทุกคนต่างพยายามที่จะมีความสุข อย่างว่า ชีวิตก็เป็นเช่นนั้นไม่ใช่หรือ?
เพราะอุดมสร้างน้องสัตว์ประหลาดมาจากชิ้นส่วนในชีวิตส่วนตัว เมื่ออุดมถอดชุด mascot ออก ฉันจะไม่แปลกใจ ถ้าภายใต้ชุดนั้นจะเป็นน้องสัตว์ประหลาดร้อยกว่าตัวกรูกันออกมา และฉันจะไม่แปลกใจเช่นกัน ถ้าภายใต้ชุด mascot ที่เราทุกคนใส่ เราจะมีน้องสัตว์ประหลาดสักตัวแอบอยู่ในนั้น
“ในขณะที่วัยของคนเราผ่านไป งานศิลปะกลับเด็กลงได้อย่างไร” ฉันถามคำถามนี้ในตอนต้นและฉันก็พบว่า มันไม่ใช่การกลับไปเป็นเด็กหรอก มันคือการเติบโตต่างหาก เติบโตและเรียนรู้จนเจอร่องรอยปัญหาของการเป็นผู้ใหญ่ จุดบกพร่องที่ว่าอาจเป็นสิ่งแตกต่างกันไปในแต่ละคน สำหรับอุดม
มันคือการพยายามเป็นในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้เป็นและการพยายามควบคุมในสิ่งที่ชีวิตไม่สามารถควบคุมได้ เพราะเขาเข้าใจสิ่งนี้ เขาจึงกลับไปทำงานศิลปะอย่างที่ไม่ต้องมีกฎรุงรังและไม่หวังให้ทุกอย่างเป็นอย่างใจหวัง — เช่นที่เราทุกคนต่างเคยเป็นในวัยเยาว์
ฉะนั้นแล้ว อุดมจึงเติบโตขึ้น และยังคงเติบโตอยู่ ภายใต้ริ้วรอยเหล่านั้นที่ทำให้เขาดูแก่ลงกว่าที่ฉันจำได้จากทีวี ฉันพบว่า ตัวตนของเขาไม่ได้แก่ชราลงเลย
ตุลาคม 2563
ภาสินี ประมูลวงศ์