Featured Stories
เสน่ห์แห่งจานกระเบื้องเคลือบพหุวัฒนธรรม : จีน-สยาม-ตุรเคีย
จานขนาดใหญ่ลายครามเขียนลายตุรเคีย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 18 หรือสมัยคังซี เป็นยุคสมัยที่จีนได้ผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายให้แก่ชุมชนอิสลามในประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจีนได้เขียนลวดลายคล้ายกับการวาดใบไม้ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะอิสลามแบบตุรเคีย-ออตโตมัน โดยชาวตุรเคียนั้นเป็นชาวเติร์กผิวขาว ซึ่งเป็นกลุ่มชนเดียวกับชาวมองโกลในที่ราบสูงมองโกเลียที่ตั้งถิ่นฐานทางตอนใต้ของคาบสมุทรอานาโตเลียหรือที่เรียกว่า “เอเชียไมเนอร์” ซึ่งเป็นดินแดนทางตะวันตกของทวีปเอเชีย คาบสมุทรอานาโตเลียจึงเป็นเสมือนสะพานที่เชื่อมระหว่างยุโรปและเอเชีย ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญอันมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม
ในยุคสมัยนั้นช่างศิลป์ชาวจีนเมืองจิ่งเต๋อเจิ้น แหล่งผลิตเครื่องกระเบื้องเคลือบอันเลื่องชื่อ มักจะรังสรรค์ลวดลายคล้ายกับเครื่องเคลือบ คูทาห์ยา (Kutahya) ซึ่งเป็นเครื่องเคลือบดั้งเดิมของตุรเคียที่มักจะเป็นลวดลายกิ่งดอกไม้ในแผงรูปใบไม้ที่มีขอบหยักโดยรอบที่เรียกว่า “ยับพรัก” ลวดลายนี้มักถูกวาดซ้ำๆ กันบนภาชนะ ซึ่งวางโครงลายคล้ายกับ Tree of Life หรือ ต้นไม้แห่งชีวิต ซึ่งเป็นลวดลายที่เกี่ยวข้องกับจักรวาลและการสร้างสรรค์ธรรมชาติ รวมถึงชาวเติร์กเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งการเกิดใหม่ การเติบโต และการพัฒนาของชนชาติ ในขณะที่ศิลปะตุรเคียนั้นไม่นิยมใช้ภาพคนหรือสัตว์เพราะถือว่าผิดหลักศาสนา ทั้งนี้ลวดลายต้นไม้แห่งชีวิตยังส่งอิทธิพลถึงศิลปะของกรุงศรีอยุธยาในสมัยพระนารายณ์ สู่การผูกลายเครือเถากระหนก และลายวัชระในพุทธศาสนา
ความโอ่อ่าตระการตาของจานขนาดใหญ่ใบนี้มาจากวัฒนธรรมการรับประทานอาหารของชาวเติร์กที่มักใช้มือเปิบข้าวทานร่วมกัน จึงจำเป็นต้องใช้จานชามขนาดใหญ่ไว้ใส่สำรับอาหาร สอดประสานกับความสง่างามจากการเนรมิตเขียนลายของช่างศิลป์ที่มีความงดงามสมมาตร ดึงดูดสายตา มีความสมบูรณ์ที่พบเจอได้ยาก มาพร้อมกับกลิ่นอายของศิลปะจีนแบบดั้งเดิมจากด้านหลังของจาน ด้วยเสน่ห์ของการเขียนลวดลายที่หลอมรวมหลากหลายวัฒนธรรมเข้ากันได้อย่างลงตัว Lot 181 จึงมีเรื่องราวที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง
ที่มา : เอกสารการเรียนความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องลายครามตุรเคียกับเครื่องลายครามจีนเพื่อตุรเคีย-ออตโตมัน โดย ดร.ปริวรรต ธรรมาปรีชากร
จานขนาดใหญ่กระเบื้องเคลือบน้ำเงินขาวเขียนลายเถาดอกไม้ในกลีบบัว (1 ชิ้น)
สไตล์จีนจากศตวรรษที่ 18
ขนาด: กว้าง 36 ซม. สูง 7.5 ซม.
ราคาประเมิน: 70,000 – 90,000 บาท
ราคาเริ่มต้น: 36,000 บาท