Featured Stories
ศิลปะบนคมดาบจากอินโดนีเซีย
ในบรรดาชิ้นงานแอนทีคซึ่งมีหลากหลายประเภทให้เหล่านักสะสมได้สรรหามาเพื่อเป็นเจ้าของนั้นมีประเภทหนึ่งที่ดูแตกต่างออกไป นั่นก็คืออาวุธที่เรียกว่า “กริช” ซึ่งเป็นของมีคมอันเปี่ยมไปด้วยมนตร์ขลัง มีพลังในการปกป้องและนำความรุ่งเรืองมาให้กับผู้ครอบครอง
อาวุธประเภทนี้ว่ามีที่มาจากประเทศอินโดนีเซีย คำว่า กริช ในภาษาไทย ถอดมาจาก keris ในภาษามลายู ซึ่งหมายถึง “มีดสั้น” คำนี้รับผ่านมาจากภาษาชวาโบราณอีกทอดหนึ่ง คือ งริช (kris) หรือ เงอะริช (keris) หมายถึง “แทง”
ชาวอินโดนีเซียถือว่าเป็นทั้งศาสตราวุธและของที่มีมนตร์ขลัง กริชปรากฏอยู่ในชิ้นงานประติมากรรมนูนต่ำที่ตกแต่งในวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่างบุโรพุทโธ อีกทั้งคำว่า kris ปรากฏอยู่มากมายในจารึกภาษาชวาในสมัยโบราณ
ถึงแม้ว่าอาวุธชนิดนี้จะเกี่ยวพันกับศาสนาที่สอดแทรกมาจากพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ศาสนาฮินดูและอิสลาม แต่กริชจากอินโดนีเซียยังคงมีเอกลักษณ์ที่รูปทรงคดเคี้ยวที่ดูคล้ายกับงู ในสมัยโบราณเชื่อกันว่ากริชมีพลังเร้นลับ จนมาถึงในปัจจุบันกริชยังคงเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมของชาวอินโดนีเซีย ซึ่งความผูกพันอันแน่นแฟ้นนี้ทำให้การสร้างสรรค์กริชขึ้นมาสักเล่มนั้นกลายเป็นชิ้นงานศิลปะอันเต็มไปด้วยรายละเอียดที่ร้อยเรียงตั้งแต่ด้ามจรดปลาย
รายละเอียดแห่งงานฝีมือ
ความยาวของกริชตามมาตรฐานจะอยู่ที่ 30-40 ซม. (กริชจากอินโดนีเซียโดยทั่วไปจะยาวและมีน้ำหนักมากกว่า) กริชหนึ่งเล่มสามารถแบ่งรายละเอียดออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือใบมีด ในภาษาอินโดนีเซียเรียกว่าวีละฮ์ (wilah) ส่วนที่สองคือด้ามหรือฮูลู (hulu) และส่วนที่สามคือ ฝักหรือปลอกดาบหรือวารังกา (warangka) ซึ่งทั้งสามส่วนนี้ต้องใช้วัสดุที่หลากหลายเพื่อประกอบกันขึ้นมาเป็นกริชหนึ่งเล่ม ทั้งเหล็ก ไม้อันล้ำค่าและหายาก ตลอดจนทองคำและงาช้าง
รูปทรงของกริชมีคำเรียกเฉพาะว่า dhapur มีมากเกือบ 60 แบบ ส่วนลวดลายบนใบกริชเรียกว่า pamor ซึ่งมีมากถึง 250 แบบและแต่ละแบบก็มีชื่อเรียกเฉพาะที่ต่างกันไปอันเกิดจากช่างผู้ชำนาญในการตีแผ่นเหล็กหรือนิกเกิล นอกจากนี้มีความเชื่อว่าลวดลายบนใบกริชนั้นมีมนตร์ขลัง และสุดท้ายคือที่มาและความเก่าแก่ เรียกว่า tangguh ทั้งหมดนี้จะกำหนดคุณค่าของกริชแต่ละเล่ม
ในปัจจุบัน กริชเป็นชิ้นงานประเภทหนึ่งที่ถูกเก็บรักษาเป็นอย่างดีในพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงทั่วโลก ในปี 2008 องค์การยูเนสโก้ได้ยกย่องให้กริชของอินโดนีเซียเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (Intangible Cultural Heritage) อีกทั้งรัฐบาลของประเทศได้โปรโมทให้เป็นกริชเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของประเทศ
สำหรับประเทศไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านและมีความสัมพันธ์ทางการเมืองและการค้ากับชวาและมลายู จึงมีการรับรู้เรื่องกริชมาตั้งแต่สมัยอยุธยาอันเห็นได้จากภาพจิตรกรรม ภาพแกะบานประตูวัดและบันทึกต่างๆ การใช้กริชในราชสำนักสยามมีหลักฐานจากภาพวาดว่าคณะทูตสยามสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสต่างเหน็บกริชที่ได้รับพระราชทานมาจากกษัตริย์แทบทั้งสิ้น
กริชที่ฝักประดับหินสี ที่ด้ามตกแต่งเป็นรูปยักษ์บูกริช
ชิ้นงานจากสกุลช่างบาหลี ใบกริช 9 คด เนื้อเหล็กลายสร้างขึ้นจากโลหะผสม สลักลายมงคล เทพศักดิ์และพรรณพฤกษา ปุประดับด้วยแผ่นทองคำดุนลาย ด้ามกริชรูปยักษ์ (Dewa) ทองคำประดับอัญมณี ฝักกริชสลักลวดลายมงคล หุ้มทับด้วยงานทองคำดุนลายประดับอัญมณี