Featured Stories
เบญจรงค์ลายน้ำทอง บันทึกแห่งศิลปะและวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง
เบญจรงค์ ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันน่าภาคภูมิใจของคนไทย และเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวต่างชาติที่ต่างถวิลหาของที่ระลึกอันงดงามนี้ พร้อมเข้าชมชิ้นงานจริงในพิพิธภัณฑ์เมื่อมาเยือนประเทศไทย
หนึ่งในชิ้นงานอันเป็นที่ปรารถนาของเหล่านักสะสมคือ เบญจรงค์ลายน้ำทอง ที่โดดเด่นด้วยการแต่งแต้มหรือตัดเส้นด้วยสีทองสมชื่อเรียก งานศิลปะชั้นสูงประเภทนี้รังสรรค์ขึ้นจากฝีมือช่างที่ละเอียดจนเกิดเป็นสีสันและลวดลายที่สวยงามด้วยการเขียนสีสันต่างๆ ลงบนเหนือชั้นกระเบื้องเคลือบสีขาวล้วนแล้วนำไปเข้าเตาเผา จากนั้นจึงเขียนด้วยลายน้ำทองจากทองคำบริสุทธิ์แล้วนำไปเผาอีกครั้ง
การเขียนในลักษณะนี้มีมาตั้งแต่สมัยจักรพรรดิคังซี (ค.ศ. 1661 – ค.ศ. 1722) ก่อนที่จะเข้ามาในสยามประเทศในสมัยรัตนโกสินทร์ซึ่งมีการสั่งทำจากจีนเพื่อใช้ในราชสำนัก จึงเห็นได้ว่าเครื่องถ้วยในสมัยนี้มีสีสันและลวดลายที่งดงามกว่าสมัยอยุธยา
ในสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (ค.ศ. 1809-ค.ศ.1824) พร้อมด้วยสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทั้งสองพระองค์ทรงสนพระทัยในเครื่องถ้วยประเภทนี้ ทรงคิดและออกแบบลวดลายด้วยพระองค์เอง จากนั้นจึงส่งไปผลิตที่ประเทศจีน
เบญจรงค์ลายน้ำทองยังคงปรากฏอยู่ในรัชกาลต่อๆ มา สำหรับชิ้นนี้สร้างสรรค์ขึ้นในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 (ค.ศ. 1853 – ค.ศ. 1910) หากพิจารณารายละเอียดจะเห็นว่าลวดลายที่เขียนนั้นค่อนข้างไปทางสไตล์จีนเสียมากกว่า และนี่คือสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าเครื่องถ้วยชนิดนี้เปรียบเสมือนสิ่งที่เชื่อมโยงวัฒนธรรมระหว่างไทยและจีนในสมัยโบราณ จึงทรงคุณค่ามากกว่าความงดงามและเกินกว่าประโยชน์ใช้สอย แต่เป็นเสมือนบันทึกทางประวัติศาสตร์อีกด้วย
Lot 101 ชามมีฝาปิดเบญจรงค์เขียนลายทองลายเถาดอกไม้บนพื้นสีทอง
สไตล์ไทย-รัตนโกสินทร์จากช่วงปลายศตวรรษที่ 19
ขนาด กว้าง 16.5 ซม. สูง 12 ซม.
การประมูล Live Auction จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม ที่ RCB Auctions ชั้น 4 ตั้งแต่เวลา 12.30 น. เป็นต้นไป นอกจากนี้ เหล่านักสะสมสามารถประมูลชิ้นงานบนเว็บไซต์ http://bitly.ws/uHtu