Featured Stories
ประวัติศาสตร์ที่ถูกค้นพบจากปลายนิ้ว
การใช้มือเปิปข้าวเป็นวัฒนธรรมการรับประทานที่มีมาแต่เดิมของชาวสยาม แต่เมื่อมีการถักร้อยวัฒนธรรมกับชาติตะวันตกในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ปรากฏว่ามีการใช้ช้อนในสำรับอาหาร โดยการใช้ช้อนในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นการใช้ช้อนรวมซึ่งคล้ายกับลักษณะของการใช้ช้อนกลางในปัจจุบัน ช้อนและภาชนะใช้สอยในยุคนั้นผลิตขึ้นจากวัสดุหลายประเภท เช่น โลหะทำจากสัมฤทธิ์ ทำจากเงิน และหอยมุก หลังจากที่อาณาจักรสยามมีความรุ่งเรืองขึ้น จึงมีการสั่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาตามแบบอย่างเข้ามาใช้ในสยามอย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุให้เครื่องกระเบื้องเคลือบเป็นที่นิยมอย่างมาก
เครื่องกระเบื้องลายคราม นับเป็นเครื่องกระเบื้องที่มีมาตั้งแต่โบราณกาล ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ในการผูกสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับชาวจีน ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยามาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งถือเป็นยุคเฟื่องฟูของเครื่องลายคราม
ชุดช้อนกระเบื้องเคลือบลายครามลายพุ่มข้าวบิณฑ์และเถาไม้ นับเป็นลวดลายยากที่จะพบบนช้อนกระเบื้องลายคราม ซึ่งโดยปกติแล้วมักเห็นอย่างหนาตาบนช้อนเบญจรงค์ ความพิเศษอีกประการหนึ่งคือขนาดของช้อนที่มีความใหญ่กว่าช้อนกระเบื้องโดยทั่วไป ลายพุ่มข้าวบิณฑ์นิยมนำมาใส่บนเครื่องเบญจรงค์ในสมัยรัชกาลที่ 2 มีลวดลายคล้ายดอกบัวตูมเรียงสลับซ้อนเกิดจากการผูกลายอย่างปราณีต ซึ่งสันนิษฐานว่าแต่ก่อนกาลนั้นช่างศิลป์ได้แรงบันดาลใจในการสร้างลวดลายต่าง ๆ จากธรรมชาติ เช่น ดอกไม้ สัตว์ หรือผลหมากรากไม้ จัดวางจังหวะตามแต่ฝีมือและอัตลักษณ์ของสกุลสำนักช่างผูกลาย ทั้งนี้ลายต้นแบบจากช่างชาวไทยจะถูกส่งไปยังช่างปั้นชาวจีน หรือเรียกว่าการให้อย่าง จนเกิดเป็นความพิเศษเฉพาะของเครื่องกระเบื้องลายคราม อันแสดงความลุ่มลึกและโดดเด่นของช้อนกระเบื้องทั้งสามคันนี้เป็นความวิจิตรแห่งยุคสมัยอันมีเสน่ห์น่าชวนมอง
ชุดช้อนกระเบื้องเคลือบน้ำเงินขาวเขียนลายไทยลายพุ่มข้าวบิณฑ์ และเถาไม้ (3 ชิ้น)
สไตล์ไทย-รัตนโกสินทร์จากศตวรรษที่ 19
ขนาด: กว้าง 6 ซม. สูง 17.5 ซม.
ราคาประเมิน: 25,000 – 30,000 บาท
ราคาเริ่มต้น: 4,000 บาท