Featured Stories
‘A Landscape at Sunset’ & ‘A Shipwreck in Stormy Seas’ (1772) – Claude Joseph Vernet
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1771 ในงานเลี้ยงครั้งสำคัญอย่างนิทรรศการศิลปะแห่งกรุงปารีส (Paris Salon) ได้มีการรวบรวมเอาจิตรกรเก่งฉกาจมากมายมาจัดแสดงผลงานให้กับเหล่าแขกผู้มีเกียรติคนสำคัญจากทั่งทั้งแถบตะวันตกได้ชื่นชม โดยหนึ่งในนั้นก็คือ โคลด์ โจเซฟ แวร์เนต์ จิตรกรชาวฝรั่งเศสผู้มีความเชี่ยวชาญในการวาดเรือเดินทะเลได้เป็นอย่างดี เมื่อได้เห็นถึงศักยภาพและความสมจริงของภาพวาด เจ้าหน้าที่ชาวอังกฤษจากบริษัทอินเดียตะวันออกอย่าง พลตรี โรเบิร์ต ไคลฟ์ ก็เกิดความประทับใจและได้ทาบทามให้แวร์เนต์วาดภาพของเรือเดินทะเลที่คล้ายกับผลงานที่จัดแสดงอยู่ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง โดยในครั้งนี้ เขาต้องการให้ชิ้นงานมีขนาดใหญ่ขึ้นและเป็นชิ้นคู่กัน อย่างไรก็ตาม เมื่อตระหนักได้ถึงราคาที่ต้องจ่าย พลตรีไคลฟ์ก็ได้ตัดสินใจซื้อภาพวาดของเรือเดินทะเลอีกคู่หนึ่งแทนในนามของ สตานิสลาส ออกุสตุส ผู้เป็นกษัตริย์แห่งโปแลนด์ ภาพวาดของเรือเดินทะเลซึ่งเป็นคู่กันนั้นป็นที่รู้จักกันในชื่อ “Two Landscape: A Sunset and a Storm” เป็นชิ้นผลงานซึ่งพรรณนาถึงความแตกต่างของการเดินเรือบนมหาสมุทรที่เป็นไปตามสภาพอากาศ ชิ้นแรกมีชื่อเดิมว่า ‘Calme’ เป็นภาพของท่าเรือที่เต็มไปด้วยชาวประมงผู้เดินทางกลับมาพร้อมกับปลาที่จับได้ในตอนเย็นของฤดูร้อนอันเงียบสงบ มีดวงอาทิตย์สีทองสาดส่องอยู่ตรงกลางภาพ แสดงให้เห็นถึงบรรยากาศและความงดงามของการใช้สีได้อย่างเชี่ยวชาญ ทั้งเกลียวคลื่นและแสงแดดที่สะท้อนระลอกคลื่นของผิวน้ำ รวมไปถึงเงาและอากาศอันอบอ้าวของหน้าร้อนที่ผสมผสานกันได้อย่างลงตัว ภาพต่อมามีชื่อเดิมว่า ‘Tempête’ มีบรรยากาศที่แต่งต่างกับภาพแรกอย่างสิ้นเชิง ชายฝั่งที่มีชาวบ้านประปรายอยู่นั้นถูกพายุทะเลพัดโหมกระหน่ำ เรือเดินทะเลขนาดใหญ่สองลำโคลงเคลงไปในคลื่นยักษ์ราวกับจะถูกดึงให้จมลงสู่ก้นทะเล มีสายฟ้าแลบจากเมฆฝนฟ้าคะนองที่ปกคลุมดวงอาทิตย์ไว้จนมองไม่เห็น รวมไปถึงซากเรือที่แตกออกเป็นเสี่ยง ๆ และบรรดาลูกเรือที่ต่างหมดสติและถูกลากขึ้นมายังชายหาด แนวคิดของความสวยงามและน่าสะพรึงกลัวในผลงานของแวร์เนต์นี้ได้รับแรงบันดาลใจมากจากบทความ “A Philosophical Inquiry into the Origins of Our Ideas of the Sublime and the Beautiful” (ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1765) โดย เอ็ดมันด์ เบิร์ก ที่มีอิทธิผลสำคัญต่อการขบวนการเคลื่อนไหวของแนวคิดจิตนิยม (Romanticism) และกอธิค (Gothic Movement) ในศิลปะและวรรณคดียุโรป ซึ่งกล่าวถึงความสวยงามเป็นเป็นสิ่งที่สามารถกระตุ้นให้เรารู้สึกถึงความรักและความผ่อนคลายได้ ในขณะที่ภาวะของความสง่างาม (Sublime) สามารถกระตุ้นให้เรารู้สึกถึงความน่าเกรงขามและความตึงเครียดได้ ฉะนั้น เมื่อเราตระหนักได้ว่าความน่าสยดสยองของศิลปะแบบ Sublime นั้นเป็นสิ่งที่สมมติขึ้น ความรู้สึกด้านลบจะถูกแปรเป็นความปิติพึงพอใจในการชมผลงานได้