EXODUS
หากพูดถึงค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็คงหนีไม่พ้นค่ายผู้ลี้ภัยที่เมืองค็อกส์ บาซาร์ (Cox’s Bazar) ประเทศบังกลาเทศที่มีประชากรเฉียดล้าน หนาแน่นกว่าประชากรในแมนฮัตตัน สหรัฐอมเริกาอีกก็ว่าได้ ทุก ๆ วัน ผู้คนที่นั่นต้องดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด แม้กระทั่งสิ่งที่เป็นพื้นฐานของการใช้ชีวิตของคนทั่วไปเช่น อาหาร สุขอนามัย การแพทย์ น้ำที่สะอาด และการศึกษาก็ยังขาดแคลนสำหรับพวกเขา และด้วยภูมิประเทศที่อยู่ติดทะเล จึงทำให้ต้องพบเจอกับมรสุมอยู่บ่อยครั้ง ก่อนจะตามมาด้วยปรากฏการณ์แผ่นดินถล่ม อุทกภัย โรคภัยไข้เจ็บเช่น โรคไทฟอยด์ และ อหิวาตกโรค
แพทริก บราวน์ นักถ่ายภาพวารสารที่ได้รับรางวัลระดับสากล เปี่ยมไปด้วยประสบการณ์การถ่ายภาพทั่วเอเชียถึง 20 ปี ประเทศที่เขาใช้เวลาอยู่นานที่สุดก็คือประเทศเมียนมา ประเทศที่มีปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยมากที่สุด
บราวน์กล่าว่า “เมื่อเดือนสิงหาคมปีค.ศ. 2017 ข่าวของชาวโรฮิงญาจำนวนมากอพยพไปยังเขตแดนของบังกลาเทศใกล้ๆเมืองค็อกส์บาซาร์เริ่มกลายเป็นที่สนใจทั่วโลกจนผมเริ่มวิตกกังวลว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาใหญ่หรือเปล่าในตอนนั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในรัฐยะไข่ประเทศเมียนมาก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะข้อมูลทุกอย่างต่างถูกควบคุมด้วยกองทัพเมียนมา (Tatmadaw)”
เมื่อบราวน์เดินทางไปถึงค็อกส์ บาซาร์ในเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 2017 ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจาก UNICEF เขาก็ได้ยินข่าวอันน่าสะเทือนใจเกี่ยวกับการฆ่าข่มขืนในรัฐยะไข่ จึงเป็นเหตุให้ชาวโรฮิงญาต้องอพยพมาที่นี่ เขาไม่ได้เตรียมใจเลยที่จะเห็นภาพอันน่าสลดใจเหล่านี้ ผู้คนต่างหิวโหยและเหนื่อยล้าจากการเดินเท้ามาที่ค็อก บาซาร์เป็นเวลาถึง 10 วัน ในแต่ละวันจำนวนของผู้อพยพค่อยๆ เพิ่มขึ้นทุกวัน จากร้อยเป็นพัน จากพันเป็นหมื่น จากหมื่นเป็นแสน
ด้วยเหตุนี้ นิทรรศการ Exodus ของแพทริก บราวน์จึงจัดขึ้นเพื่อเป็นอุทาหรณ์ และสะท้อนให้เห็นปัญหาแห่งมนุษยชาติให้ผู้ชมทุกท่านได้เห็นกัน ซึ่งนิทรรศการได้รับการสนับสนุนจากคุณนิติชา ชาร์ จาก GP Group