สนามหลวง
ชมภาพเก่าเล่าเรื่องจากร้าน ‘สนามหลวง’ ที่ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก
“ภาพถ่ายโบราณทำให้เรารู้สึกเหมือนได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ”
มีคำกล่าวมากมายว่าภาพถ่ายคือการบันทึกเรื่องราว วันนี้เราได้นั่งคุยกับ คุณวีรวิชญ์ ฟูตระกูล แห่งร้าน ‘สนามหลวง’ ที่รวบรวมงานแอนทีคและของสะสมโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพถ่ายโบราณอันทรงคุณค่าไว้มากมาย ทั้งหมดนี้เกิดจากการเริ่มสะสมภาพถ่ายของประเทศสยามในสมัยโบราณตั้งแต่ตอนที่อยู่มัธยม
บันทึกจากร้านหนังสือเก่า
คุณวิชชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ตั้งแต่เรียนประถม พอโตขึ้นมาอีกนิด เขาชอบใช้เวลาว่างไปกับการเดินดูร้านหนังสือเก่าและเจอภาพถ่ายงานบรมราชาภิเษกของรัชกาลที่ 7 อันเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาศึกษาและสะสมภาพถ่ายโบราณมาตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม
“ภาพถ่ายโบราณทำให้เรารู้สึกเหมือนได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ จากนั้นก็เลยเริ่มเก็บสะสมภาพโบราณ แล้วก็ตามด้วยวัตถุโบราณที่เกี่ยวกับราชวงศ์จักรีครับ” เขาเล่าให้เราฟังด้วยน้ำเสียงที่มีความสุขในแบบของนักสะสมผู้เปี่ยมไปด้วยแพชชั่น
สานต่อความสุขด้วยการเปิดร้านแอนทีค
คุณวิชได้เปิดร้านขายของเก่ามาตั้งแต่ตอนที่เรียนในมหาวิทยาลัย พอเรียนจบก็ได้ออกมาทำงานประจำอยู่ 3 ปีทำให้ต้องปิดร้านไป แต่ในที่สุดก็พบว่าตนเองมีใจรักในด้านของแอนทีคมากกว่าจึงกลับมาเปิดร้านอย่างเต็มตัวอีกครั้งในชื่อ ‘สนามหลวง’
ภาพถ่ายอายุนับร้อยปีของ ‘สนามหลวง’
ปัจจุบันภาพถ่ายโบราณที่เก่าแก่ที่สุดที่มีในร้านคือภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งมีพระชนมายุราว 8 พรรษาที่ทรงฉายพระรูปในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งภาพนี้มีอายุหลายร้อยปี
คุณวิชเล่าให้เราฟังว่าการถ่ายภาพเข้ามาในเมืองไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 รูปถ่ายใบแรกๆ ของเมืองไทยจึงเกิดขึ้นในเวลานั้น สันนิษฐานกันว่าเป็นภาพถ่ายของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ หรือสมเด็จพระปิ่นเกล้า ถ่ายโดยสังฆราชปาลเลกัวส์ ชาวฝรั่งเศสผู้นำกล้องถ่ายภาพเข้ามาในเมืองไทย
อย่างไรก็ตาม การถ่ายภาพยังไม่ค่อยแพร่หลายนักในรัชกาลที่ 3 เพราะคนไทยมีความเชื่อว่าไม่ควรถ่ายรูปตัวเอง รูปถ่ายจะดูดวิญญาณเราเข้าไปและทำให้อายุสั้น พอมาถึงสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงสนใจด้านการถ่ายภาพและเทคโนโลยี พระองค์ท่านจึงเป็นคนไทยคนแรกๆ ที่ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ และเป็นการลบล้างความเชื่อผิดๆ เหล่านั้นในที่สุด
ต่อมาการถ่ายภาพได้รับความนิยมมากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ประกอบกับการที่พระองค์ทรงเสด็จประพาสยุโรป ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ที่ถ่ายโดยสตูดิโอฝรั่งที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นจึงมีอยู่มากมาย ทำให้เหล่านักสะสมภาพถ่ายโบราณต้องตามเก็บภาพอันทรงคุณค่าเหล่านั้นด้วยการประมูลมาจากต่างประเทศ ซึ่งยังคงอยู่ในสภาพที่ดี
เสน่ห์ของภาพถ่ายโบราณที่ต่างจากปัจจุบัน
การถ่ายรูปในสมัยก่อนไม่ได้ทำได้ง่ายๆ เหมือนในปัจจุบันที่เรากดชัตเตอร์บนสมาร์ทโฟนได้ตลอดเวลา การถ่ายรูปเมื่อหลายร้อยปีก่อนต้องใช้อุปกรณ์เยอะ ทำให้ค่าใช้จ่ายแพง แต่มีข้อดีคือรูปโบราณมีความคมชัดมากเพราะน้ำยาล้างและขั้นตอนที่ซับซ้อน ทำให้ภาพถ่ายมีความคมชัดในแบบที่เทคโนโลยีปัจจุบันทำไม่ได้
บันทึกเรื่องราวไว้บนภาพถ่ายตลอดกาล
แน่นอนว่าชิ้นงานอันเก่าแก่ย่อมเสื่อมสภาพไปตามเวลา ดังนั้นการเก็บรักษาภาพโบราณอย่างถูกวิธีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก คุณวิชแนะนำถึงวิธีการซึ่งเป็นประโยชน์ต่อนักสะสมที่เริ่มสนใจเก็บภาพว่า “ปัจจัยที่ทำให้ภาพเสียหายได้มากที่สุดคือแสงแดดซึ่งจะทำให้สีของรูปไม่คมชัด ถ้าใส่กรอบโชว์ควรใส่ในกระจกมิวเซียมกลาส (โดยส่วนใหญ่ในเมืองไทยมักเก็บใส่กรอบกระจกธรรมดา) กระจกชนิดนี้จะช่วยกรองแสงได้มากและต้องครอบด้วยกระดาษไร้กรดเพราะกรดจะทำปฏิกิริยากับภาพทำให้เกิดเชื้อราได้”
การเก็บภาพถ่ายโบราณให้คงอยู่ในสภาพดีจะสร้างมูลค่าให้กับภาพได้เพราะภาพถ่ายโบราณในปัจจุบันหาได้ยากกว่าแต่ก่อนเและราคาก็สูงขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งเป็นที่ต้องการของนักสะสมกลุ่มใหม่ๆ และมีชาวต่างชาติที่ตามเก็บภาพโบราณของประเทศสยามอยู่มาก
และที่สำคัญคือภาพถ่ายโบราณหากอยู่ในสภาพที่ดีจะเป็น “กระจกแห่งกาลเวลา” ที่จะพาเราย้อนเวลากลับไปสู่ยุคสมัยที่เราไม่คุ้นเคยเพื่อทำความรู้จักกับประวัติศาสตร์และผู้คนในช่วงเวลานั้น