Featured Stories
ความเรืองรองแห่งเครื่องถมทองของไทย
หากจะกล่าวถึงงานหัตถกรรมชั้นสูง ในหมู่นักสะสมหลายท่านคงนึกถึงเครื่องถมทองอันเป็นที่ปรารถนาด้วยเสน่ห์ความงดงามของสีทองจากทองคำอันบริสุทธิ์ซึ่งสลักเสลาอยู่บนลวดลายที่สร้างสรรค์ด้วยมืออย่างประณีต ในขณะที่วัฒนธรรมตะวันตกมีงานที่รูปแบบคล้ายกันซึ่งเรียกว่า ‘repoussé’ (เรอปูส์เซ) หรือการนำโลหะมาบุหรือดุนจนเกิดเป็นลายนูนออกมา ทว่าขั้นตอนการทำเครื่องถมทองนั้นมีความสลับซับซ้อนยิ่งกว่า และได้ผงาดอยู่ในประวัติศาสตร์ตะวันตกอีกด้วย
ที่มาของคำว่า ‘ถมทอง’
ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายคำว่า “ถม” ว่า “เรียกภาชนะหรือเครื่องประดับที่ทำโดยใช้ผงยาถมผสมน้ำประสานทอง ถมลงบนลวดลายที่แกะสลักบนภาชนะหรือเครื่องประดับนั้น แล้วขัดผิวให้เป็นเงางามว่าเครื่องถม เช่น ถมนคร ถมเงิน ถมทอง”
อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการสร้างสรรค์ดังกล่าวนี้ช่างไทยเราได้รับมาจากต่างชาติ สำหรับจุดเริ่มต้นของเครื่องถมทองนั้นมีหลักฐานทำให้ทราบว่าอย่างน้อยในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ครองราชย์ปี พ.ศ. 1991 – 2031) ก็ปรากฏเครื่องถมทองแล้ว (ซึ่งในเวลานั้นตรงกับคริสศตวรรษที่ 15 อันอยู่ในยุคเรอเนสซองส์ (Renaissance) ของยุโรป) และสันนิษฐานว่าคนไทยเรารับองค์ความรู้ในการทำเครื่องถมทองมาจากฝรั่งมังค่า บ้างก็ว่าได้รับมาจากชาวโปรตุเกสเพราะเป็นชาติแรกที่เข้ามาทำการค้าในราชอาณาจักรไทยในสมัยอยุธยา 4 เมือง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือนครศรีธรรมราช ด้วยเหตุนี้ ‘เครื่องถมนคร’ จึงมีชื่อเสียงเป็นอย่างยิ่งเมื่อกล่าวถึงงานหัตถกรรมชั้นสูงประเภทนี้ โดยจุดเด่นของเครื่องถมนครอยู่ที่ตัวยาถมซึ่งมีสีดำเงาและแวววาว อันเกิดจากการพัฒนาฝีมือของช่างในท้องถิ่นเพราะมีการจัดการแข่งขันจนได้ชิ้นงานที่มีคุณภาพ ปรากฏร่องรอยการสลักด้วยมืออันเป็นเสน่ห์ของเครื่องถมนคร
ทูตวัฒนธรรม
ความวิจิตรงดงามที่เนรมิตขึ้นมานี้ทำให้เครื่องถมขึ้นแท่นเป็นเครื่องราชบรรณาการไปถวายให้กับกษัตริย์และเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในต่างประเทศ ในสมัยพระนารายณ์ (ครองราชย์พ.ศ. 2199 – 2231) ปรากฏหลักฐานว่าคณะทูตได้นำเครื่องถมทองไปถวายให้กับพระสันตปาปาที่กรุงโรม และหลังจากนั้นการมอบของกำนัลเป็นเครื่งถมทองอันล้ำค่ายังคงเป็นธรรมเนียมสืบต่อมา เช่น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานเครื่องถมทองจำนวนหลายชิ้นให้กับสถาบันสมิธโซเนียน (Smithsonian Institute) ในสหรัฐอเมริกา รวมถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงมอบเครื่องถมทองซึ่งเป็นโถมีฝาปิดให้กับประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) เมื่อปีพ.ศ. 2546
เรื่องราวทั้งหมดนี้สลักเสลาอยู่บนลวดลายของเครื่องถมทองอันเรืองรองอยู่ในประวัติศาสตร์ไทยและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
Lot 715
ถาดเงินเท้าปุ่มถมทองสลักดุนลายเถาดอกพุดตาน (1 ชิ้น)
สไตล์ไทย-รัตนโกสินทร์จากศตวรรษที่ 19
ขนาด: กว้าง 17.5 ซม. สูง 3.5 ซม.
ราคาประเมิน: 30,000 – 40,000 บาท