Featured Stories
คนที มรดกล้ำค่าจากเส้นทางการเดินเรือ
“คนที” หรือภาชนะใส่น้ำขนาดย่อม มีรูปร่างกลม ก้นมีเชิงสำหรับตั้งวาง คอคอดยาว บริเวณปากกว้าง และผายออก เพื่อสะดวกต่อการใส่น้ำลงไป บริเวณส่วนกลางมีพวยยื่นออกมา เพื่อใช้สำหรับเทน้ำออก คนทียังเรียกอีกชื่อว่า กุณฑี เป็นเครื่องมือของใช้ชาวบ้านมาแต่เก่าก่อน แม้กระทั่งในศิลาจารึกของขอมโบราณยังมีคำกล่าวถึงเมื่อมีการถวายของให้เทวสถาน มักมีหม้อน้ำ คนโท และคนทีรวมอยู่ด้วย ในประเทศไทยสันนิษฐานว่ามีการใช้คนทีตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยมากเป็นภาชนะดินเผาที่มีพวยตรงอย่างเป็นเอกลักษณ์ และยังใช้ในสำนักพระราชวังในเวลาที่มีพระราชพิธีที่มีการ “หลั่งทักษิโณทก” หรือ พิธีการกรวดน้ำ
แต่เก่าก่อนคนเดินเรือมักมีคนทีติดตัวไว้เพื่อใช้เป็นที่บรรจุน้ำและเหล้า เนื่องจากคนทีนั้นมีรูปทรงสะดวกต่อการพกพาและยังง่ายต่อการดื่มน้ำขณะออกเดินทางไปยังเมืองท่าต่างๆ นอกจากนี้แหล่งค้นพบที่สำคัญของคนทีและเครื่องกระเบื้องเคลือบจากจีนในรูปแบบอื่นๆ คือ ย่านเมืองเก่าปัตตาเวีย หรือกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน เดิมปัตตาเวียเป็นเมืองท่าการค้าที่มีเรือจากจีน จามปาและเกาะอื่น ๆ แวะมาเทียบท่าตั้งแต่ศตวรรษที่ 5 ต่อมาบริษัทดัตช์อีสต์อินเดียหรือ VOC เริ่มพัฒนาย่านนี้ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 16 ทำหน้าที่เป็นสถานีการค้าที่สำคัญ และมีการก่อสร้างอาคารหลายหลังในย่านนี้ แต่เมื่อ VOC ล้มละลายในปี ค.ศ. 1799 ย่านนี้ก็ถูกทิ้งร้างไปพร้อมกับความนิยมทางการค้า แต่ยังคงหลงเหลือร่องรอยทางประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้
คนทีเขียนลายแบบอย่างเบญจรงค์เป็นลายเครือเถาก้านขดที่มีความงดงามอย่างไทย โดดเด่นยิ่งด้วยพื้นสีเทอร์คอยส์ หรือหลายคนรู้จักในชื่อสีเขียวหางนกยูง เป็นสีเคลือบกระเบื้องที่มีเอกลักษณ์ โดยทั่วไปจะใช้ในการเผาครั้งที่สองที่อุณหภูมิต่ำกว่าคล้ายกับการลงยา เริ่มใช้ในสมัยราชวงศ์ถังซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะตะวันออกกลาง และต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 9-13 มีการใช้สีเทอร์คอยส์ในการตกแต่งภาชนะและกระเบื้องอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งในช่วงราชวงศ์หยวน สีเทอร์คอยส์เริ่มพบเห็นได้บ่อยมากขึ้นบนเครื่องกระเบื้องเคลือบของจีน นับได้ว่าคนทีชิ้นนี้เปี่ยมไปด้วยคุณค่าและมีพลังความงดงามของศิลปะที่บรรจงแต่งแต้มบนเครื่องกระเบื้องเคลือบอายุนานหลายศตวรรษใน Lot 277
คนทีกระเบื้องเคลือบลายสีเขียนลายก้านขดและเถาดอกบัวบนพื้นสีเขียวสลับสีเหลือง (1 ชิ้น)
ชุดส่วนภาพปกคัมภีร์พระมาลัยเขียนลายทองลายนก กระรอกและเถาดอกพุดตานพร้อมกรอบไม้
สไตล์จีนจากศตวรรษที่ 18
ขนาด: กว้าง 15 ซม. ยาว 24 ซม.
ราคาประเมิน: 30,000 – 40,000 บาท
ราคาเริ่มต้น: 18,000 บาท