Featured Stories
จานคังซี อู๋ไฉ่ ลูกผสมทางวัฒนธรรม
จานคังซี อู๋ไฉ่ หรือ 康熙五彩 (Kāngxī wǔcǎi) อันงดงามชิ้นนี้สร้างสรรค์ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ราวๆ รัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ปีค.ศ. 1656 – ค.ศ. 1688) ซึ่งนับเป็นชิ้นงานที่หายากและผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมของจีน ไทย และรูปทรงจานจากอิทธิพลของยุโรป จึงเกิดเป็นเสน่ห์ในแบบ “ลูกผสม” ที่เนรมิตขึ้นด้วยเทคนิคเฉพาะที่เรียกว่า อู๋ไฉ่ หรือ 五彩 (wǔcǎi ) หากแปลตรงตัวแปลว่า ‘5 สี’ แต่แท้จริงแล้วมิได้จำกัดเฉพาะเพียง 5 สี เท่านั้น
อู๋ไฉ่ เป็นสไตล์การตกแต่งเครื่องลายครามจีนด้วยการเขียนสีเหนือเคลือบโดยใช้สีเฉพาะ คือ สีแดง เหลือง เขียว ม่วง และตัดเส้นด้วยสีดำ ลักษณะเฉพาะเช่นนี้บ้างก็เรียกกันว่าเครื่องกระเบื้องจิ่งเต๋อเจิ้น 景德鎮 (Jǐngdézhèn) มาจากชื่อเมืองอันเป็นศูนย์กลางการผลิตเซรามิกอันมีชื่อเสียงในสมัยพระจักรพรรดิคังซี (ปีค.ศ. 1662 – ค.ศ. 1722) แห่งราชวงศ์ชิง (ปีค.ศ. 1636 – ค.ศ. 1912) ที่ได้รับการยกย่องว่าเครื่องกระเบื้องในสมัยนี้มีความสมบูรณ์งดงาม
ในแง่ของลวดลาย เครื่องกระเบื้องอู๋ไฉ่มักเขียนด้วยลวดลายธรรมชาติ เช่น ลายมังกร นกฟีนิกซ์ ปลา และดอกไม้ต่างๆ ซึ่งความพิเศษของชิ้นงานนี้คือการเขียนด้วยลวดลายแบบไทยที่เรียกว่า ลายเครือเถาก้านขด หนึ่งในลายไทยที่วิจิตรงดงามอันเกิดจากการประกอบลายด้วยการนำเอาลายกระหนกและส่วนประกอบต่างๆ เช่น กาบ เหงา มาประกอบกันให้ได้สัดส่วนที่สัมพันธ์กันทั้งลวดลายและช่องไฟ ลวดลายชนิดนี้ชี้ให้เห็นว่าลายไทยมีการพัฒนามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ จนเกิดรูปแบบที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์อันหลากหลาย ให้คุณค่าในเชิงความงามและการนำไปประยุกต์ใช้ในงานสถาปัตยกรรมและลวดลายลงบนข้าวของเครื่องใช้อันมีเอกลักษณ์เฉพาะในแบบไทย
ไฮไลท์ชิ้นนี้สร้างสรรค์ขึ้นที่ประเทศจีนและส่งออกมายังสยามประเทศอันเป็นที่นิยมในเวลานั้น
Lot 190 จานเบญจรงค์ขนาดใหญ่ลายเครือเถาก้านขด
สไตล์ไทย-อยุธยาจากศตวรรษที่ 18
ขนาด กว้าง 33 ซม. สูง 7 ซม.
การประมูล Live Auction จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม ที่ RCB Auctions ชั้น 4 ตั้งแต่เวลา 12.30 น. เป็นต้นไป นอกจากนี้ เหล่านักสะสมสามารถประมูลชิ้นงานบนเว็บไซต์ http://bitly.ws/uHtu