Featured Stories
ลอยกระทง 2566
นอกจากพระจันทร์เต็มดวงและน้ำในคลองที่เต็มตลิ่งแล้ว อีกหนึ่งภาพจำของวันลอยกระทงในทุกปีก็คือ ‘นางนพมาศ’ ผู้ถูกเลือกให้เป็นหญิงที่เพียบพร้อมที่สุดในเทศกาลนี้ แต่รู้กันหรือไม่ว่าประเพณีนางนพมาศมีที่มาที่ไปอย่างไร และเหตุใดจึงถูกยกให้มีบทบาทสำคัญในวันลอยกระทงเช่นนี้? แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าหญิงผู้นี้มีตัวตนจริงหรือไม่ เรื่องราวของนางนพมาศก็ปรากฏอยู่ในตำนานเล่าขานของวันลอยกระทงมาตั้งแต่โบราณในฐานะผู้มีบทบาทในการคิดประดิษฐ์กระทง ซึ่งกลายมาเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาในประเทศไทยจวบจนปัจจุบัน ร่ำลือกันว่านางนพมาศเป็นกุลสตรีที่งดงามมาก ทั้งยังเพียบพร้อมไปด้วยมารยาทและความรอบรู้ในด้านต่าง ๆ ทั้งอักษรศาสตร์ การเรือนการช่างของกุลสตรี รวมไปถึงความสามารถในการขับร้อง อาจกล่าวได้ว่านางนพมาศนั้นสมบูรณ์แบบตามฉบับสตรีผู้มีการศึกษาในยุคสมัยเลยทีเดียว มีความเชื่อกันว่านางนพมาศนั้นเป็นหญิงสูงศักดิ์ที่เกิดในตระกูลพราหมณ์สมัยสุโขทัย เธอเป็นธิดาของพระศรีมโหสถและนางเรวดี จนกระทั่งเธอได้รับเข้าราชการในสมัยพระยาลิไท (พระมหาธรรมราชาที่ 1) และได้เป็นที่โปรดปรานจนได้รับเลื่อนขั้นบรรดาศักดิ์เป็นสนมเอกผู้เป็นที่รู้จักในนาม “ท้าวศรีจุฬาลักษณ์” ซึ่งในขณะนั้น นางนพมาศก็รับสมญานามว่าเป็นกวีหญิงคนแรกของไทยจากการแต่งหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์เพื่อใช้เป็นหลักปฏิบัติตนของนางกำนัลในวัง อีกทั้งยังคิดประดิษฐ์โคมลอยรูปดอกบัว ตกแต่งด้วยวัสดุธรรมชาติและดอกไม้นานาชนิดเพื่อใช้ในพิธีลอยประทีป ซึ่งกลายมาเป็นต้นแบบของ ‘กระทง’ ในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเรื่องราวประวัติของนางนพมาศจะถูกเล่าสืบต่อกันมานานและทำให้เธอกลายเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ประดิษฐ์กระทง ก็มีนักประวัติศาสตร์ที่ให้ความเห็นว่าเรื่องราวของ “นางนพมาศ” อาจเป็นเพียงเรื่องที่แต่งขึ้นในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นเท่านั้น ด้วยภาษาโวหารที่ถูกใช้ในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์นั้นมีความแตกต่างจากภาษาที่ปรากฏในไตรภูมิพระร่วงและศิลาจารึกหลักที่ 1 ซึ่งถูกอ้างว่ามาจากในยุคสมัยเดียวกัน (สุโขทัย) แม้จะไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าเธอมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ แต่นางนพมาศก็ได้กลายเป็นตัวแทนของสตรีที่มีความงดงามทั้งกิริยา วาใจ และใจ อันเป็นเหตุให้มีการจัดประกวดนางนพมาศอันเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างสรรค์และรื่นเริงในประเพณีวันลอยกระทงมาจนถึงปัจจุบัน