Featured Stories
ร้อยเรียงร่องรอยงานประณีตศิลป์เสน่ห์ไทย
งานหัตถศิลป์และประณีตศิลป์แบบไทยนั้นมีความงดงามและน่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นได้คงร่องรอยแห่งความล้ำค่า รังสรรค์ขึ้นจากขั้นตอนอันพิถีพิถันเพื่อเนรมิตเป็นชิ้นงานนี้
งานปั้นแบบไทยประเพณีมีหลายรูปแบบ เช่น งานปั้นดิน งานปั้นปูน และสำหรับชิ้นนี้สร้างสรรค์ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า ‘งานปั้นรักสมุก’ ซึ่งในปัจจุบันอาจไม่เป็นที่คุ้นหูนัก งานปั้นที่ว่านี้เป็นหนึ่งในวิธีการประดับลวดลายโดยใช้วัสดุต่างๆ อย่างประณีต และจัดอยู่ในกลุ่มงาน ‘ช่างสิบหมู่’ อันที่จริงแล้วงานช่างสิบหมู่มิได้มีเพียง 10 ประเภท แต่มีมากถึง 29 ประเภทที่ค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา
อย่างไรก็ตาม ด้วยภูมิปัญญาที่มีมาแต่สมัยโบราณในการนำวัสดุตามธรรมชาติมาใช้ ทำให้คนรุ่นหลังอย่างเราได้ชื่นชมความวิจิตรงดงามที่ปรากฏอยู่บนงานปั้นพระพักตร์พระพุทธรูป หน้าหุ่นกระบอก งานปั้นหน้าโขน เครื่องศิราภรณ์ หรือเครื่องสวมศีรษะ ตลอดจนของใช้ในครัวเรือน ของตกแต่งบ้านอันล้วนเกิดจากงานปั้นรักสมุกแทบทั้งสิ้น แต่กว่าจะเสร็จสมบูรณ์เป็นงานแต่ละชิ้นนั้น เรียกได้ว่ามีความพิถีพิถันอย่างยิ่ง ตั้งแต่ขั้นตอนแรกคือ การเตรียมวัสดุโดยใช้ ‘สมุก’ ซึ่งเป็นถ่านทำจากใบตองแห้ง นำมาป่นจนเป็นผงละเอียดเพื่อผสมด้วยการเคี่ยวในอุณหภูมิที่เหมาะสมให้เข้ากับกับรักน้ำเกลี้ยง น้ำมันยาง และปูนแดงจนเกิดเป็น ‘รักสมุก’ หรือ ‘รักตีลาย’ บ้างก็เรียกว่า ‘รักกระแหนะ’ จากนั้นมาสู่ขั้นตอนที่เรียกว่า การกระแหนะลาย (คำว่า ‘กระแหนะ’ แปลว่า การแตะ เติม) เพื่อสร้างสรรค์ลวดลายที่มีขนาดเล็กขึ้นมาโดยใช้สมุกปั้นเป็นลวดลายหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการตีลายด้วยแม่พิมพ์จากหินสบู่และตีลายด้วยรักสมุก ซึ่งนอกจากการทำรักสมุกที่มีขั้นตอนอันซับซ้อนดั่งที่กล่าวไปแล้ว การกดรักสมุกลงไปในแม่พิมพ์แล้วแกะออกมาก็ต้องใช้ความชำนาญด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ช่างสามารถเนรมิตลวดลายต่างๆ ได้ด้วยการติดประดับตามตำแหน่งที่ต้องการ หรือติดทองคำเปลวและการลงสีฝุ่นเพื่อให้มีสีสันที่สวยงาม กล่าวได้ว่า ทั้งสองกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นการปั้นรักสมุกและการกระแหนะลายนั้นคือ งานประณีตศิลป์ที่มีความงดงามและมีรูปแบบเฉพาะทำให้เกิดผลงานที่มีเสน่ห์และเป็นเอกลักษณ์ของชาติได้อย่างน่าภาคภูมิ
Lot 778: ตั่งเตี้ยไม้ขาคู้ขนาดเล็กลงรักปิดทองตกแต่งลวดลายดอกไม้ (งานปั้นรัก) (1 ชิ้น)