Featured Stories
มรดกอันงดงามจากกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
หากกล่าวถึงโลหะธาตุอันเก่าแก่ที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาของมนุษยชาติมาอย่างยาวนาน หนึ่งในนั้นต้องมีโลหะประเภทเงินซึ่งปรากฏหลักฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์
คุณสมบัติของเงินนั้นมีเนื้อสีขาวทึบ มีความแข็งมากกว่าทองคำเล็กน้อย และมีค่าเป็นอันดับสองรองจากทองคำ เมื่อนำเงินไปขัดเงาจะเกิดความวาววับ เงินจึงเป็นวัสดุที่มีบทบาทสำคัญในการนำมาสร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่านับตั้งแต่อดีตกาลและกลายมาเป็นงานหัตถศิลป์ที่เรียกว่างานสลักดุน งานบุดุน หรืองานดุนโลหะอันงดงามดั่งจะเห็นได้จากเครื่องประกอบพระราชพิธีและเครื่องราชูปโภคของพระมหากษัตริย์อันบอกถึงรสนิยมและภูมิปัญญาในแต่ละยุคสมัย นอกจากนี้ในวัฒนธรรมต่างๆ ทั่วโลกทั้งในยุโรปตลอดจนวัฒนธรรมอินเดียต่างเชื่อว่าเงินมีความศักดิ์สิทธิ์
สำหรับการเข้ามาของโลหะประเภทนี้ในประเทศไทยนั้นเริ่มจากวัฒนธรรมอินเดียที่เผยแพร่เข้ามาในคาบสมุทรอินโดจีน ตั้งแต่สมัยอาณาจักรทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16) ตั้งอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างและมีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดนครปฐม รวมถึงแคว้นต่างๆ ก่อนสมัยสุโขทัย (ราวพ.ศ. 1781 – 2117) เริ่มมีการผลิตเหรียญเงินมาใช้ในการค้าและชำระหนี้ ต่อมาในสมัยอยุธยา (พ.ศ. 1893 – 2310) บรรดาขุนนางต่างมีข้าวของเครื่องใช้ที่ทำจากเงินเพื่อบ่งบอกถึงสถานะ บ้างก็ได้รับพระราชทานมาจากพระมหากษัตริย์ จนมาถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย (พ.ศ. 1991 – 2310) ด้วยความเจริญทางการค้าทำให้ประชาชนทั่วไปมีความมั่งคั่งจึงสามารถซื้อหาเครื่องเงินมาไว้ในครอบครองได้
จนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นอันเป็นช่วงเวลาสำคัญต่อศาสตร์การสร้างสรรค์เครื่องเงินเนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 2-4 (พ.ศ. 2352 – 2411) เป็นช่วงที่จีนเริ่มเข้ามาค้าขายและมีอิทธิพลต่องานช่างที่ได้รับความนิยมในเวลานั้น เช่น งานช่างไม้ งานเฟอร์นิเจอร์ และที่โดดเด่นเป็นอย่างมากคืองานสลักดุนโลหะที่ชาวจีนจำนวนมากรับจ้างทำในเวลานั้น และด้วยสไตล์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะจึงทำให้เกิดเป็นชื่อเรียกสำหรับการทำเครื่องเงินชั้นสูงว่า “ช่างจีนเซี่ยงไฮ้” เพราะเป็นเมืองจากประเทศจีนอันเป็นที่รู้จักอย่างมากในสมัยนั้น
งานสลักดุนช่างจีนเซี่ยงไฮ้ เป็นตัวแทนของความงดงามแห่งเครื่องเงินชั้นสูงของภาคกลาง นั่นหมายความว่าหัตถศิลป์ประเภทนี้ปรากฏในส่วนอื่นๆ ของประเทศไทยด้วย เช่น งานสลักดุนจากภาคเหนือ (สกุลช่างเชียงใหม่) และงานสลักดุนจากภาคใต้ (สกุลช่างนครศรีธรรมราช) ส่วนในระดับภูมิภาคมีงานสลักดุนสกุลช่างเมืองหลวงพระบางหรือเมืองเวียงจันทน์จากประเทศลาว, งานสกุลช่างพนมเปญ, งานสกุลช่างจีนสิบสองปันนา มณฑลยูนาน ประเทศจีน, งานสกุลช่างเนปาล, งานสกุลช่างเวียดนาม ส่วนในยุโรปก็มีด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะและประวัติความเป็นมาอันยาวนาน ทำให้งานสลักดุนช่างจีนเซี่ยงไฮ้ยังคงเป็นที่ยอมรับในหมู่นักสะสมว่าเป็นงานฝีมือชั้นครูที่งดงาม หายาก และมีราคาที่สูงอย่างยิ่ง
สำหรับงานประมูลครั้งสำคัญ Live Auction ที่จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม 2566 เวลา 12.30 น. ณ ห้องประมูล RCB Auctions ชั้น 4 และทางออนไลน์ www.rcbauctions.com ทีมผู้เชี่ยวชาญได้คัดสรรชิ้นงานสลักดุนจากสกุลช่างเซี่ยงไฮ้ที่มีความงดงามจำนวน 2 ชิ้น
ท่านสามารถพรีวิวชิ้นงานได้อย่างใกล้ชิดที่ห้องประมูล RCB Auctions ชั้น 4 ได้ทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน – 5 พฤษภาคม เวลา 10.00 น. – 18.00 น.
Lot 71 กาเงินสลักดุนลายวรรณกรรมจีนโบราณ (1 ชิ้น)
สไตล์จีนจากช่วงต้นศตวรรษที่ 20
ขนาด: กว้าง 18.5 ซม. สูง 14 ซม. น้ำหนัก 702 กรัม
ราคาประเมิน: 150,000 – 200,000 บาท
ราคาเริ่มต้น: 39,000 บาท
Lot 72 ชุดน้ำชาเงินประกอบด้วย กา เหยือกนมและโถน้ำตาลสลักดุนลายไผ่ (1 ชุด (3 ชิ้น))
สไตล์จีนจากช่วงต้นศตวรรษที่ 20
ขนาด: กว้าง 16 ซม. สูง 12 ซม. น้ำหนัก 618 กรัม
ราคาประเมิน: 150,000 – 200,000 บาท
ราคาเริ่มต้น: 28,000 บาท