เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00 - 20.00 น.

Featured Stories

ของขวัญจากแดนมังกรสู่รสนิยมและการประลองแห่งเมืองสยาม

เครื่องโต๊ะ เป็นเครื่องบูชาของไทยที่นำเข้ามาจากประเทศจีน สันนิษฐานว่าน่าจะมีการนำเข้ามาเมื่อปี พ.ศ. 2361 ในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี กำลังสร้างสวนขวาในพระบรมมหาราชวัง ครั้นที่ราชทูตของไทยต่างได้เห็นการตกแต่งพระราชวังและบ้านเรือนด้วยเครื่องลายครามมากมายหลังจากการเดินทางกลับมาจากประเทศจีน ก็ได้มีการนำต้นแบบมาปรับใช้เป็นแบบแผนในการตกแต่งพระราชตำหนักในสวนขวาของพระบรมมหาราชวัง จึงทำให้บ้านเรือนของเหล่าขุนนางและเจ้านายเริ่มนิยมการตกแต่งด้วยเครื่องบูชาจีนตั้งแต่นั้นมา อีกทั้งยังเริ่มมีการตั้งโต๊ะประกวดกันเมื่อมีการจัดเครื่องโต๊ะไปฉลองพระอารามที่ได้ปฏิสังขรณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น ประเพณีการตั้งโต๊ะยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องไปจนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เล่าขานว่านิยมการตั้งโต๊ะกันเป็นอย่างมาก กระทั่งมีการเล่ากันในยุคนี้ว่าการไปรวมกันตั้งโต๊ะที่ไหนก็ไม่สนุกเท่ากับที่บ้านของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) 

การจัดเครื่องโต๊ะบูชาประเพณีแบบดั้งเดิมจีนมีหลักอยู่ทั้งหมด 5 อย่าง เรียกว่า ‘โหส่าย’ คือ กระถางธูป เชิงเทียน แจกัน ลับแล และกระถางกำยาน ต่อมาได้มีการเพิ่มรูปแบบการจัดเป็นทั้งหมด 8 อย่างโดยการเพิ่มชามลูกไม้ กระบอกปักธูป และขวดดอกไม้ลงบนเครื่องโต๊ะเพื่อเพิ่มความสวยงาม จึงทำให้ในการจัดเครื่องโต๊ะเริ่มยิ่งใหญ่และอลังการมากขึ้นในเวลาต่อมา เพราะแต่ละบ้านจะต้องแสวงหาของมีค่าเพื่อมาจัดเครื่องโต๊ะให้เข้ากันเป็นชุดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องกระเบื้องหรือเครื่องลายครามต่าง ๆ ที่ออกแบบกันอย่างเข้าชุด ซึ่งโดยพื้นฐานแล้ว ผู้ที่จะเล่นเครื่องโต๊ะจะต้องจัดหาสิ่งของที่กำหนดไว้สำหรับการตั้งโต๊ะ 8 ชิ้นแรกให้ครบเสียก่อน คือ ลับแล ขวดใหญ่ปักดอกไม้ กระถางธูปใน กระบอกปักธูป กระถางหน้าเผาเครื่องหอม ขวดปักดอกไม้หน้า ชามหน้า และเชิงเทียนอีก 1 คู่ ก่อนที่จะออกแบบความเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องโต๊ะประจำบ้านของตนเองด้วยการแต่งเติมของตกแต่งเพิ่มเติมเข้าชุดไป

เมื่อสังเกตว่าการเล่นเครื่องโต๊ะได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ผู้มีบทบาทสำคัญในการค้าขายเครื่องลายครามจีนในสยามสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นอย่าง พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (พุก) ก็ได้มีการทูลขอพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมสาย กรมขุนราชสีหวิกรม ให้ทำแบบอย่างเครื่องโต๊ะไปผลิตที่ประเทศจีนแล้วนำกลับมาค้าขายในประเทศไทย โดยใช้ชื่อเรียกว่า ‘โต๊ะกิมตึ๋ง’ และแม้ว่าการผลิตครั้งนี้จะทำให้เครื่องโต๊ะหาซื้อได้ง่ายแต่ก็ส่งผลให้ความนิยมของเครื่องโต๊ะซาลง เพราะชาวสยามเห็นว่าเครื่องโต๊ะกลายเป็นของหาง่ายและไม่ต้องใช้ความพยายามในการหาเครื่องลายครามให้เข้าชุดกัน อย่างไรก็ตาม การตั้งเครื่องโต๊ะก็ได้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งในช่วงปี พ.ศ. 2430 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงรวบรวมเครื่องถ้วยชามลายผักกาดในสมัยรัชกาลที่ 2 มาจัดเป็นโต๊ะเดียวกันอย่างเข้าชุด เป็นสาเหตุให้เหล่าขุนนางและเจ้านายเริ่มกลับมาเล่นการตั้งเครื่องโต๊ะใหม่กันอีกครั้ง นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวกันว่างานพระเมรุของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี ภัทรวดีราชธิดา พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังเป็นงานประกวดเครื่องโต๊ะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอีกด้วย

Lot 778

กี๋ตั้งทรงสี่เหลี่ยมกระเบื้องเคลือบน้ำเงินขาว เขียนลายทิวทัศน์ในช่องกระจก สลับลายเถาไม้บนพื้นคราม (1 ชิ้น)

สไตล์จีนจากศตวรรษที่ 19

ขนาด: กว้าง 14 ซม. สูง 12 ซม.

ราคาประเมิน: 30,000 – 40,000 บาท

ราคาเริ่มต้น: 14,000 บาท

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึก