Featured Stories
จากเส้นทางสายไหมสู่ลวดลายอันงดงาม
บนเส้นทางสายไหมที่ทอดยาวนับพันกิโลเมตรนั้นเป็นแหล่งกำเนิดวัฒนธรรมให้เล่าขานได้อย่างไม่รู้จบ ชิ้นงานไฮไลท์นี้คือผลผลิตจากการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออกที่ข้ามน้ำข้ามทะเลจนมาบรรจบกันได้ในที่สุด เฉกเช่นลวดลายบนซองพลูชิ้นนี้ประกอบด้วยลายกระรอกและเถาองุ่นที่รังสรรค์ขึ้นจากฝีมือช่างที่พิถีพิถัน
ลวดลายองุ่นนั้นมีจุดกำเนิดมาจากวัฒนธรรมตะวันตกในสมัยอียิปต์โบราณก่อนที่จะแพร่ขยายไปสู่เอเชียกลาง องุ่นและเหล้าไวน์มีชื่อเสียงในประเทศอียิปต์มาอย่างยาวนานอย่างน้อย 3 – 4 พันปีก่อนคริสตกาล ต่อมาจึงปรากฏอยู่ในงานจิตรกรรมฝาผนังที่ศิลปินเขียนเล่าออกมาเป็นภาพการเก็บเกี่ยวผลองุ่นและการเสิร์ฟไวน์อย่างอ่อนช้อยงดงามเพื่อแสดงให้เห็นว่าศิลปินหรือช่างผู้นั้นเข้าใจถึงธรรมชาติของผลไม้ชนิดนี้อย่างถ่องแท้
ในเวลาต่อมา เส้นทางสายไหมได้นำผลผลิตทางการเกษตรชิ้นนี้มายังแผ่นดินจีนตั้งแต่ก่อนสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618 – ค.ศ. 907) ซึ่งจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้เผยว่ามีการใช้ถ้วยพร้อมหูจับที่ทำขึ้นจากบรอนซ์และตกแต่งด้วยเถาองุ่น นก และเด็กผู้เป็นทูตสวรรค์มาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 4 นอกจากนี้ลวดลายดังกล่าวยังปรากฏอยู่บนชิ้นงานตกแต่งในสมัยราชวงศ์เว่ยเหนือ (ค.ศ. 386 – ค.ศ. 535) ด้วยเพราะอาณาเขตที่ปกครองอยู่นั้นขึ้นชื่อเรื่องการผลิตไวน์ที่มีรสชาติเยี่ยม อย่างไรก็ตาม ในวัฒนธรรมจีน ลวดลายองุ่นปรากฏพร้อมกับลายกระรอกอย่างแพร่หลายที่สุดในด้านศิลปวัฒนธรรมในสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368 – ค.ศ. 1644) องค์ประกอบสองสิ่งนี้เมื่อนำมาผสมผสานกันจะได้เป็นความหมายมงคลอันสื่อถึงการมีลูกดก เฉกเช่นองุ่นที่มีเมล็ดมาก
ในด้านภาษาศาสตร์นั้น การมีทายาทผู้สืบทอดมากมายนั้นในภาษาจีนเรียกว่า 松鼠葡萄 (Sōngshǔ pútáo) หรือ ‘ซงสู่ ผูเถา’ คำว่า 松鼠 (Sōngshǔ) หรือ ‘ซงสู่’ แปลว่า กระรอก และคำว่า 葡萄 (pútáo) หรือ ‘ผูเถา’ แปลว่า องุ่น นอกจากนี้ คำว่า 萄 (táo) จากคำเต็มว่า 葡萄 (pútáo) ออกเสียงคล้ายกับคำว่าลูกพีช 桃(táo) อันเป็นสัญลักษณ์ของการมีชีวิตที่ยืนยาว สำหรับชิ้นงานไฮไลท์นี้คือซองพลูที่สร้างสรรค์จากเงินสลักดุน สื่อให้เห็นถึงการผสมผสานวัฒนธรรมจากหลายชาติหลายภาษาจนมาสู่ชิ้นงานแอนทีคแบบไทยที่สลักเสลาเรื่องเล่าจากต่างแดนได้อย่างลงตัว
Lot 665: ซองพลูเงินสลักดุนลายกระรอกและเถาองุ่น (1 ชิ้น)