Featured Stories
เครื่องถมนคร สมบัติและความงดงามแห่งเมืองสยามที่ไม่มีวันดับสูญ
หากจะกล่าวถึงงานศิลปหัตถกรรมของไทยที่มีเอกลักษณ์และวัฒนธรรมงดงามนั้น คงจะหนีไม่พ้น “เครื่องถม” งานศิลปหัตถกรรมชั้นสูงที่ชาวไทยภาคภูมิใจมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2525 ได้ให้ความหมายคำว่า ‘ถม’ ไว้ว่า “… ภาชนะหรือเครื่องประดับที่ทำโดยผงยาถมผสมน้ำประสานทอง ถมลงบนลวดลายที่แกะสลักบนภาชนะหรือเครื่องประดับนั้น แล้วขัดผิวให้เป็นเงางามว่าเครื่องถม เช่น ถมนคร ถมเงิน ถมทอง” โดยเครื่องถมยังมักถูกใช้เป็นเครื่องราชูปโภคของกษัตริย์ เป็นเครื่องยศสำหรับขุนนางชั้นสูง อีกทั้งยังใช้เป็นเครื่องราชบรรณาการที่ใช้มอบให้แก่กษัตริย์ประเทศต่าง ๆ ในอดีตอีกด้วย
ความเป็นมาของเครื่องถมนั้นสันนิษฐานว่ามีการเริ่มผลิตกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาในรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 หรือราวปี พ.ศ. 2061 หากแต่หลักฐานของจุดเริ่มต้นและการผลิตเครื่องถมนั้นยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักประวัติศาสตร์ไทย บ้างก็สันนิษฐานว่าชาวไทยได้รับองค์ความรู้ในการทำเครื่องถมทองมาจากฝรั่งมังค่า โดยอ้างอิงว่าอาจเป็นศิลปวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากพ่อค้าชาวโปรตุเกส ผู้เป็นชาติแรกที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำการค้าขายในราชอาณาจักรไทยสมัยอยุธยา 4 เมือง คือ กรุงศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช ปัตตานี และมะริด โดยเมืองที่มีชื่อเสียงในการทำเครื่องถมมากที่สุดนั้นก็คือเมืองนครศรีธรรมราช บ้างก็ว่าความรู้เรื่องยาถมไทยนั้นมิได้รับรู้มาจากประเทศใดและเกิดขึ้นครั้งแรกที่เมืองนครศรีธรรมราชของประเทศไทย ด้วยเหตุนี้จึงมีการเรียกเครื่องถมในอีกชื่อว่า ‘ถมนคร’ นั่นเอง
เรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องถมในเมืองนครศรีธรรมราชนี้ปรากฏอยู่มากมายในเอกสารสำคัญหลายฉบับ อาทิ หนังสือชุด “สาส์นสมเด็จ” ซึ่งเป็นลายพระหัตถ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์และพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยอย่าง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยหนึ่งในข้อความได้มีการระบุถึงเครื่องถมไว้ว่า “… จะทูลบรรเลงต่อไปถึงเรื่องถมเมืองนครฯ การทำเครื่องถมในเมืองไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ทำแต่ในกรุงเทพฯ กับที่เมืองนครศรีธรรมราช ๒ แห่งเท่านั้น คนนับถือกันว่าฝีมือช่างถมเมืองนครฯ ทำดีกว่าในกรุงเทพฯ จนเครื่องถมที่ทำดีมักเรียกกันว่า “ถมนคร” …”
หนึ่งในเครื่องถมซึ่งเป็นที่นิยมมากที่สุดก็คือ ‘ถมดำ’ โดยถมดำที่ดีจะต้องมีสีดำสนิท ไม่มีจุดขาว หรือที่เรียกกันว่า ‘ตามด’ ซึ่งเมืองนครศรีธรรมราชก็ได้ชื่อว่ามีฝีมือในการทำถมดำมากเพราะมีความละเอียดในกระบวนการขูดร่องลวดลายและการเหยียบพื้น (การตอกร่องลงบนเนื้อเงินที่เป็นพื้นของลายที่ตอก) ที่ทำให้ผงถมเกาะแน่นและทนทานที่สุด โดยบริษัทที่มีชื่อเสียงในการทำเครื่องถมก็คือ ‘บริษัทไทยนคร’ (ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2475) ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการทำเครื่องถมมาแล้วหลายทศวรรษ ซึ่งเครื่องถมนครที่เรานำมาให้ทุกท่านได้ชื่นชมกันในการประมูลครั้งนี้ก็คือหนึ่งในงานถมนครที่แสดงถึงขั้นตอนกระบวนการทำที่ละเอียดลออเป็นอย่างมากเลยทีเดียว เพราะเป็นงานถมนครที่มีการออกแบบอย่างเชี่ยวชาญและประณีต ไม่ว่าจะเป็นการประดับลายเครือเถาก้านขดหน้าสิงห์ลงไปบนตัวถาด ล้อมไปด้วยลวดลายหน้ากาลและลายนางฟ้าซึ่งเพิ่มความโดดเด่นให้กับชิ้นงาน อีกทั้งยังมีการประดับตกแต่งด้วยขาพญานาคสามเศียร ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความงดงามที่มิอาจเสื่อมไปตามกาลเวลา ทำให้ชิ้นงานถมนครนี้เป็นหนึ่งในผลงานศิลปหัตถกรรมที่คู่ควรแก่การสะสมเป็นอย่างยิ่ง
Lot 100
ถาดล้างหน้าเงินถมดำขนาดใหญ่ลายเทพรำและหน้ากาล ที่ขาตกแต่งเป็นรูปพญานาคราชที่ฐานสลักอักษรภาษาอังกฤษ “1 OKTOBER 1928 BANGKOK SAIGON SINGAPORE PENANG HAIPHONG” (1 ชิ้น)
สไตล์ไทย-รัตนโกสินทร์จากช่วงต้นศตวรรษที่ 20
ขนาด: กว้าง 43 ซม. สูง 22 ซม. น้ำหนัก 4500 กรัม
ราคาประเมิน: 700,000 – 900,000 บาท
ราคาเริ่มต้น: 100,000 บาท