Featured Stories
ใบหน้าแห่งเกียรติยศ
จากหนังสือ “ตำนานเรื่องเครื่องโต๊ะและถ้วยปั้น” ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงพระนิพนธ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2460 กล่าวว่า “การจัดชุดชาจีนในสยามนั้นมีว่าเป็นการจัดตามความนิยม ความชื่นชอบของชาวสยามเอง ไม่ได้จัดตามอย่างจีน ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ เช่น ชุดปั้นหน่วยถ้วยใบ ชุดอานม้า ชุดจีน ชุดไทยถ้วยสี่ ชุดไทยถ้วยสี่ปั้นคู่ ชุดดาวล้อมเดือน ฯลฯ โดยสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของชุดชาอย่างสยามคือการจัดปั้นและถ้วยลงในถาดเดียวกัน ซึ่งไม่ปรากฏในวัฒนธรรมจีนมาแต่โบราณ ‘ชุดปั้นหน่วยถ้วยใบ’ เป็นการจัดอย่างโบราณที่จัดอย่างเรียบง่ายสมชื่อ ประกอบด้วยถ้วยชงมีฝา ปั้นหนึ่งใบ วางบนจานรองปั้น และจัดรวมลงถาด โดยมิได้กำหนดกฎเกณฑ์”
โดย RCB Auctions ก็ได้จัดสรรชุดน้ำชาปั้นหน่วยด้วยเดี่ยวมาให้ทุกท่านได้ชื่นชมกันในงานประมูล Live Auction ครั้งนี้ ชุดน้ำชาปั้นหน่วยที่ถูกคัดสรรมานั้นถูกเขียนด้วยกระบวนการแลทอง ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้สำหรับการตกแต่งเหนือเคลือบสำหรับเครื่องถ้วยผ่านการใช้สารละลายที่มีองค์ประกอบของทองคำในสัดส่วนที่แตกต่างกัน ทั้งยังวาดด้วยลาย ‘หน้ากาล’ (Kala Face) หรือ ‘เกียรติมุข’ (Kirtimukha) ซึ่งเป็นลวดลายปูนปั้นที่ใช้ประดับซุ้มจระนำและยอดซุ้มของโบราณสถานแหล่งสำคัญหลายแห่ง
ลวดลาย ‘หน้ากาล’ มีลักษณะเป็นหน้าสัตว์ในเทพนิยาย เป็นรูปหน้ายักษ์ปนสิงห์หรือใบหน้าอสูรที่มีลักษณะดุร้าย คิ้วขมวด นัยน์ตากลมโตถลน จมูกใหญ่ ปากกว้างเห็นฟันบนและมีเขี้ยว ไม่มีริมฝีปากล่าง ไม่มีลำตัว มีแขนออกมาจากด้านข้างของศีรษะ และสวมเครื่องประดับศีรษะลักษณะเป็นกะบังหน้า ส่วนชื่อ “เกียรติมุข” ผันมาจากภาษาสันสกฤต ประกอบด้วยคำสองคำ คือ “กีรฺติ” แปลว่า คำสรรเสริญหรือเกียรติ และคำว่า “มุข” แปลว่า หน้า เมื่อนำทั้งสองคำมารวมกันจึงหมายถึง หน้าอันมีเกียรติ เป็นความหมายมงคลที่ส่งเสริมให้ลวดลายหน้ากาลได้นำไปประดับตามจุดสำคัญต่าง ๆ นั่นเอง
ชุดน้ำชาปั้นหน่วยถ้วยเดี่ยวเบญจรงค์เขียนลายทองลายหน้ากาลในช่องกระจกสลับลายก้านต่อดอกบนพื้นสีเขียวพร้อมป้านชาดินเผาสีแดงและถาดชาทองเหลืองทรงอานม้ากะไหล่ทองฉลุลายอักษรโซ่วและสวัสติกะ
สไตล์ไทย-รัตนโกสินทร์จากศตวรรษที่ 19
ขนาด: กว้าง 27.5 ซม. สูง 11 ซม.
ราคาประเมิน: 500,000 – 700,000 บาท
ราคาเริ่มต้น: 80,000 บาท