Featured Stories
ตำนานเหล่าสัตว์จากหุบเขาแห่งสวรรค์และสิบสองบัลลังก์ของผู้ถูกเลือก
ลวดลายบนเครื่องลายครามมักประดับไปด้วยตำนานเรื่องเล่ามากมายที่เกี่ยวกับความเป็นสิริมงคล ไม่ว่าจะเป็นพงศาวดาร ตำนานความเชื่อ ภูมิทัศน์ วิถีชีวิตของคนในสมัยโบราณ รวมไปถึงลวดลายของสิบสองนักษัตรประจำปีที่แสดงกิริยาอาการต่าง ๆ สอดแทรกอยู่ในป่าไพรที่สวยงาม ทั้งต้นหญ้า แม่น้ำลำธาร และมังกรที่โลดแล่นอยู่บนฟ้า ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งลวดลายสวยงามและหายากที่นักสะสมหลายท่านต่างแสวงหามาเชยชม
หลายคนอาจคุ้นเคยกับตำนานสิบสองนักษัตรประจำปีเกิดที่อยู่คู่มากับชาวเอเชียยาวนานกว่าสองพันปี ซึ่งถือเป็นภูมิความรู้แต่โบราณที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตผู้คนและมีอิทธิพลอย่างมหาศาลในประเทศทางตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ โหราศาสตร์ การพยากรณ์ต่าง ๆ ทั้งยังเป็นหมุดบอกเวลาและฤกษ์ยามส่งสัญญาณแก่ผู้คนในสมัยโบราณ หากแต่น้อยคนนักที่จะรู้ซึ่งคำกล่าวขานที่เล่าถึงเรื่องราวความเป็นมาของเหล่านักษัตรผู้ถูกเลือกทั้งสิบสองตนนี้
หนึ่งในตำนานกล่าวว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้วในหนึ่งวันก่อนปีใหม่ เทพเจ้าได้ลงมาที่หุบเขาเพื่อมองดูทิวทัศน์ ต้นไม้ แม่น้ำ และสัตว์ต่าง ๆ จึงมีความคิดว่าน่าจะเป็นการดีหากใช้สัตว์เหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ จึงพูดกับเหล่าสัตว์ทั้งหลายว่า “ใกล้ปีใหม่แล้ว รุ่งเช้าวันชิวอิก (วันที่ 1 เดือนอ้ายตามจันทรคติของจีน) เชิญพวกเจ้ามาอวยพรปีใหม่ ข้าจะกำหนด 12 นักษัตรตามลำดับในแต่ละปี ผู้ใดมาถึงก่อนก็เป็นอันดับที่ 1 ถึง 12 ตั้งแต่นี้ไป” สัตว์ทั้งหลายต่างจดจำวันดังกล่าวได้อย่างแม่นยำ มีแต่แมวขี้เกียจเท่านั้นที่จำไม่ได้จึงไปถามหนู แต่ก็ถูกเจ้าหนูเจ้าเล่ห์หลอกกลับไปว่าเป็นวันชิวยี่ (วันที่ 2 เดือนอ้าย) ทำให้แมวถูกตัดออกจากลำดับนักษัตรทั้งสิบสอง ส่วนเจ้าวัวผู้ขยันขันแข็งที่รู้ตัวว่าเดินช้าเลยรีบออกเดินทางตั้งแต่เที่ยงคืน พอเจ้าหนูเจ้าเล่ห์เห็นเข้าเลยกระโดดขึ้นหลังวัว เมื่อเช้าวันชิวอิกมาถึง เจ้าวัวที่เดินทางไปถึงก่อนใครก็ส่งเสียงเรียก เทพเจ้าจึงออกมาเปิดประตูให้ แต่ทันใดนั้นเจ้าหนูก็รีบกระโดดลงจากหลังวัวและวิ่งเข้าประตูไป เทพเจ้าจึงกล่าวว่า “เจ้าหนู ยินดีต้อนรับ เจ้ามาถึงเช้าที่สุด นักษัตรที่ 1 คือเจ้า” ด้วยเหตุนี้ หนู (ชวด) ถึงถูกจัดให้อยู่เป็นอันดับแรกของนักษัตร ตามมาด้วย วัว (ฉลู) ในอันดับ 2 และเสือ (ขาล) กระต่าย (เถาะ) มังกร (มะโรง) งู (มะเส็ง) ม้า (มะเมีย) แพะ (มะแม) ลิง (วอก) ไก่ (ระกา) สุนัข (จอ) และหมู (กุน) เป็นต้นมา
นอกจากตำนานที่กล่าวมานี้แล้ว ยังมีข้อมูลมากมายที่กล่าวถึงคติสิบสองนักษัตรว่าอาจเกิดขึ้นก่อนสมัยตงฮั่น (ค.ศ. 25 – 220) โดยปรากฏอยู่ในหนังสือราชวงศ์ชิงชื่อ “ไกยวีฉงเข่า” เขียนโดย ‘เจ้าอี้’ ซึ่งกล่าวว่าตำนานของนักษัตรทั้งสิบสองนั้นเป็นที่เผยแพร่มากในสมัยตงฮั่นของราชวงศ์ฮั่นตกวันออก โดยมี ‘ฮูหานเสีย’ ประมุขของชนเผ่าซงหนูเป็นผู้นำเข้ามาในดินแดนจงหยวนในสมัยซีฮั่นของราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีข้อมูลที่กล่าวถึงตำนานของสิบสองนักษัตรอย่างละเอียดปรากฏอยู่ใน “ลุ่นเหิง” คัมภีร์โบราณของ ‘หวังชง’ บัณฑิตผู้เป็นที่นับถือในสมัยตงฮั่นอีกด้วย
Lot 506
กาน้ำชาทรงมะตูมกระเบื้องเคลือบน้ำเงินขาวลายสิบสองนักษัตร (ผิดฝาผิดตัว) (1 ชิ้น)
สไตล์จีนจากศตวรรษที่ 19
ขนาด: กว้าง 19.5 ซม. สูง 15.5 ซม.
ราคาประเมิน: 5,000 – 7,000 บาท
ราคาเริ่มต้น: 5,000 บาท