เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00 - 20.00 น.

Featured Stories

บนเส้นสายลายครามนามกษัตริย์

เครื่องลายครามตกแต่งด้วยอักษรพระปรมาภิไธยย่อ จปร. เป็นที่ปรารถนาอย่างยิ่งในหมู่นักสะสมเครื่องถ้วยชามสไตล์ไทยที่สลักเสลาเรื่องเล่าผ่านสีสันของลายครามอันสวยงามและลวดลายพระนามย่อของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ช่างผู้มีฝีมือออกแบบลวดลายขึ้นมาใหม่โดยใช้ลายยี่หรือลายตัวหนังสือใหญ่ของจีนมาดัดแปลง

พระปรมาภิไธยซึ่งแปลว่า ชื่ออันประเสริฐยิ่ง ถูกย่อให้เหลือเพียง 3 ตัวอักษรคือ จ.ร. ซึ่งย่อมาจากพระนามเต็มว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ปรมราชาธิราช

นอกจากประโยชน์ใช้สอยเพื่อใช้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ ตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีและงานเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสสำคัญต่างๆ ซึ่งยังคงปรากฏให้เห็นมาจนถึงปัจจุบันนั้น การใช้อักษรย่อมีคุณค่าในเชิงสุนทรียศาสตร์ที่ต่อยอดไปสู่การประดับตกแต่งบนชิ้นงานอันล้ำค่าผ่านกาลเวลานับร้อยปีเฉกเช่นเครื่องลายครามเหล่านี้

จากอักษรย่อ 3 ตัวสู่ 10 ลายอันงดงาม

ด้วยความสามารถอันล้ำเลิศของผู้ออกแบบคือหม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย (ท่านต๋ง) ตัวอักษรย่อเพียง 3 ตัวสามารถนำมาผูกเป็นลวดลายใหม่ที่ไม่ซ้ำกันได้มากถึง 10 ลาย ซึ่งดัดแปลงมาจากลายยี่หรือลายตัวหนังสือใหญ่ของจีน

เอกลักษณ์และความหมายบนลวดลาย จปร.

ถึงแม้ว่าลาย จปร. จะมีมากมายหลายรูปแบบ แต่ก็เป็นที่จดจำได้ง่ายเพราะแต่ละลายมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นและมาพร้อมกับความหมายและเรื่องราวที่ร้อยเรียงอยู่บนตัวอักษรและลวดลายที่มาเป็นองค์ประกอบ อย่างไรก็ตาม ในส่วนพระนามย่อ จปร. นั้นมิจำเป็นต้องเรียงตัวอักษรตามนี้ แต่ช่างฝีมือเขียนลายโดยยึดความสวยงามเป็นสำคัญ

ลายอัฐ

ลายนี้ถือได้ว่าได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักสะสม ลักษณะของลายมีที่มาจากเหรียญกษาปณ์ในรัชกาลที่ 5 ผูกลายโดยใช้มงคลสัญลักษณ์จีนคือ ฮก ลก ซิ่ว ลายค้างคาว หรือ เปียนฝู (蝙蝠 Biānfú) พ้องเสียงกับคำว่า ฝู (福 Fú) หรือ ฮก แปลว่า วาสนา ส่วนเหรียญกษาปณ์ หรือเหรียญจีน แทนตัว ลก ที่หมายถึงความมั่งคั่ง เงินทองมากมาย ส่วนลายจีนตรงอักษร จปร. จะผูกเป็นตัวซิ่ว (壽 Shòu) หมายถึงอายุยืนยาว ส่วนลักษณะของตัวหนังสือที่คอดเว้าตรงกลางนั้นเรียกว่า การเขียนเป็นรูปยี่คอด

ลายกระแปะ หรือลายอีแปะ

ลายนี้มีลักษณะเป็นวงกลม ตัวหนังสือด้านในเมื่อดูเผิน ๆ อาจนึกว่าเป็นภาษาจีนแต่เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดจะพบว่าเป็นภาษาไทยซึ่งเป็นอักษรย่อของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่และพระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ว่าจะเป็น สว. ย่อมาจากพระนามของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระนามเดิม พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา นอกจากนี้มีตัวอักษรย่อ สผ. ของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภา ผ่องศรี ซึ่งในเวลาต่อมาทรงขึ้นเป็นสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระนามย่อเหล่านี้นี้ปรากฏพร้อมอักษรย่อของคำว่าสยาม ส่วนบริเวณตรงกลางเป็นพระปรมาภิไธยย่อ จปร.

ลายลูกไม้ จ.ป.ร.

ลายนี้ผูกลายไว้ด้วยผลไม้มงคล 3 ประการที่มีที่มาจาก ฮก ลก ซิ่ว ผลส้มมือ (佛手柑 Fóshǒu gān) แทนฮก สื่อถึงความโชคดี โชคลาภ มั่งคั่ง ส่วนทับทิม แทนคำว่า ลก สื่อถีงความมีบุญวาสนา มีอำนาจ สำหรับลูกท้อนั้นคือผลไม้แห่งความยั่งยืน สื่อถึงการมีอายุยืนยาว

ลายลูกไม้ค้างคาว

ลายนี้ดัดแปลงมาจากลายผลไม้มงคล 3 ประการ และผูกลายอย่างมีความหมายอันแยบยลซึ่งถ่ายทอดผ่านค้างคาว 5 ตัว ซึ่งหมายถึง อู่ฝู (五福 Wǔfú) ในภาษาจีน หมายถึงความสุข 5 ประการ ซึ่งมีบันทึกอยู่ในคัมภีร์ซ่างซู (尚書 Shàngshū) อันเก่าแก่ของมหาปราชญ์ขงจื๊อ อันประกอบด้วย การมีอายุยืนยาว (長壽  Chángshòu) ความมั่งคั่งร่ำรวย (福貴 Fúguì) การมีสุขภาพดีปราศจากโรคภัย (康寧  Kāngníng) การมีคุณธรรมอันประเสริฐ (好得 Hǎo dé) และการเสียชีวิตอย่างสงบสุข (善終 Shànzhōng) สัญลักษณ์มงคลทั้ง 5 นี้ รายล้อมอักษรย่อ จปร.

ลายยี่ยาว

ลายนี้มีความเรียบง่ายและจัดวางตัวอักษรในแนวตั้งซึ่งได้แรงบันดาลใจจากตัวอักษรโซ่วหรือซิ่วที่มีลักษณะเป็นเส้นตรงยาว

ลายยี่ซ้อน

ลายนี้ประกอบด้วยอักษรพระนามย่อ จปร. สองตัวซ้อนกันเป็นสองชั้นในแถวเดียวกันยาวตลอดภาชนะ หากดูผิวเผินจะคล้ายกับลายยี่ยาวมาก แต่มีความแตกต่างคือ ลายยี่ยาวจะเป็นตัวอักษร จปร. ตัวเดียวยาวตลอดภาชนะ แต่ลายยี่ซ้อนเป็นอักษรสองตัวซ้อนกันอยู่ โดยเมื่อนำมาตกแต่งบนภาชนะ ลายยี่ซ้อนจะทำหน้าที่การรับทรวดทรงของภาชนะได้เป็นอย่างดี ทั้งยังทำให้ภาชนะมีความโดดเด่นและดูทันสมัย

ลายยี่สยาม

ลายนี้เป็นลายที่นำอักษรพระนามย่อ จปร. กับคำว่า “สยาม” มาผูกเป็นลายเรียงกันเป็นสองชั้นสุดความยาวของภาชนะ เพิ่มความโดดเด่นให้ลวดลายดูปราณีตเป็นอย่างมาก

ลายยี่ขัด

ลายนี้เป็นลายที่นำพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร มาวางลายเป็นสองแถวขัดกันเหมือนตารางลายขัดไปจนรอบภาชนะ จึงทำให้ตัวอักษรค่อนข้างสั้นและมีรูปทรงคล้ายสี่เหลี่ยมจัตุรัส ผิดกับลายยี่เดิมของตัวอักษรจีนใหญ่หรือตัวซิ่วซึ่งหมายถึงการมีอายุมั่นขวัญยืน ภาชนะต่าง ๆ ที่โดนประดับไปด้วยลวดลายนี้จึงมีกลิ่นอายของทั้งความทันสมัยและประวัติศาสตร์อยู่ในเวลาเดียวกัน

ลายยี่คอดขัด

ลายนี้เป็นลายที่นำลายยี่ขัดมาดัดแปลง โดยมีการเขียนตัวอักษรพระปรมาภิไธยย่อ จปร ให้คอดเว้าตรงกลางทั้งสองด้านเท่ากัน แต่ยังคงส่วนตัวลายให้เป็นลายยี่ขัดตามเดิม เมื่อมองผิวเผินจึงคล้ายกับเป็นลายเดียวกันกับลายยี่ขัด แต่หากดูอย่างละเอียด จะเห็นความแตกต่างคือตัวอักษรคอดตรงกลางคล้ายกับเรือนร่างของหญิงสาว จึงถือเป็นลวดลายที่สร้างสรรค์มิติแห่งการออกแบบใหม่ ๆ ให้กับภาชนะ ทำให้ดูมีพื้นที่กว้างและสะดุดตามากยิ่งขึ้น

ลายยี่คด

ลายนี้เป็นลายที่นำอักษรพระนาม จปร มาแทรกอยู่ในลวดลายเส้นที่เห็นเป็นเส้นคดยาวตลอดภาชนะ วนคดเคี้ยวไปรอบภาชนะเว้นจังหวะเป็นช่อง ๆ จึงมีชื่อเรียกว่า ลายยี่คด ลายนี้มีความโดดเด่นคือความพริ้วไหวของตัวอักษรที่รับกับรูปทรงของภาชนะได้อย่างลงตัว ทำให้ภาชนะดูหรูหรา มีสเน่ห์ และดูล้ำค่าด้านประวัติศาสตร์ไปในขณะเดียวกัน

ขอบคุณรายละเอียดบทความจาก อ.ธนพันธุ์ ขจรพันธุ์ (Ajarn Thanaphan Khajornphan)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึก