Featured Stories
ส่องแนวคิดคูลๆ ในงานอาร์ตของแอนดี้ วอร์ฮอล
ส่องแนวคิดคูลๆ ในงานอาร์ตของแอนดี้ วอร์ฮอล
แอนดี้ วอร์ฮอล เจ้าพ่อป๊อปอาร์ต เป็นผู้ทำให้ศิลปะกลายเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามากขึ้น (Pop art is for everyone) ยกตัวอย่างจากผลงานที่มีชื่อเสียง เช่น การนำฉลากซุปยี่ห้อแคมเบลล์มาต่อยอดสร้างสรรค์งานที่คุ้นตาหลายชิ้นในยุค 60s ที่จะได้เห็นชิ้นงานออริจินัลในงานนิทรรศการ Andy Warhol: Pop Art เช่น ผ้ากันเปื้อนพิมพ์ลายกระป๋องซุปแคมเบลล์ที่วอร์ฮอลทำขึ้นในปี 1968 รวมถึงชุดเดรส (1968) ถุงช้อปปิ้ง (1966) และรองเท้า (1964) ชิ้นงานจริงทั้งหมดนี้เราจะได้เห็นในนิทรรศการที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันพุธหน้า
แต่วันนี้เราจะพูดถึงผลงานในยุคแรกๆ ที่นำร่องมาก่อนหน้ากระป๋องซุป (เรียกว่า ‘Before it was cool’ ก็ว่าได้) วอร์ฮอลเป็นผู้เชื่อมโยงศิลปะเข้ากับวัฒนธรรมป๊อปในช่วง 1950s ซึ่งตอนนั้นเขาเพิ่งเป็นเด็กจบใหม่จากสาขาวิจิตรศิลป์และตัดสินใจย้ายไปอยู่นิวยอร์กและเริ่มต้นเป็นนักออกแบบโฆษณาของนิตยสารฮาร์เปอร์ส บาซาร์ (Harper’s Bazaar) และมีผลงานโฆษณาชิ้นแรกให้กับแบรนด์ๆ หนึ่ง ผลงานของเขาในช่วงนี้จะเป็นงานวาดภาพลายเส้นซึ่งเขาคิดว่าอีกไม่นานผลงานแบบนี้คงไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไป วอร์ฮอลผู้มีหัวก้าวหน้าจึงนำเทคนิคใหม่ๆ มาใช้ซึ่งก็คืองานพิมพ์ซิลค์สกรีนที่เขาเริ่มหันมาใช้ในช่วงต้นยุค 1960s ซึ่งถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญและทำให้วอร์ฮอลเป็นเจ้าพ่อป๊อปอาร์ตที่เรารู้จักจนถึงทุกวันนี้
ก่อนจะมีผลงานกระป๋องซุปแคมเบลล์ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ประจำตัวของเขา วอร์ฮอลได้นำขวดโค้ก ยี่ห้อสินค้าอุปโภคบริโภคสัญชาติอเมริกันมาสร้างเป็นงานศิลปะจนเกิดขึ้นเป็น Green Coca-Cola Bottles ในปี 1962 ซึ่งเป็นการนำขวดโค้ก 112 ขวดมาเรียงต่อกัน 7 แถวและวางโลโก้โค้กไว้ด้านล่างให้ดูเหมือนกับภาพโฆษณาที่สื่อถึงการผลิตเป็นจำนวนมากและวัฒนธรรมบริโภคนิยม วอร์ฮอลนำขวดโค้กมาเนรมิตเป็นผลงานศิลปะอีกหลายชิ้นในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็น Coca-Cola (1962) ซึ่งใช้เครื่องอัดสำเนาด้วยกระดาษไขซึ่งเป็นวิธีการคัดลอกในราคาที่ถูก นอกจากนี้ขวดโค้กไปปรากฏอยู่บนปกอัลบั้มรวมเพลงฮิตของวง The Velvet Underground ในชื่อ Andy Warhol’s Velvet Underground Featuring Nico (1971) อีกด้วย ขอบอกไว้ก่อนเลยว่าใครซื้อบัตรแล้วจะได้ดูปกอัลบั้มนี้อย่างแน่นอน!
นอกจากความฉลาดที่รู้จักนำสิ่งใกล้ตัวมาใช้ วอร์ฮอลน่ายกย่องในเรื่องของความคิด ใครจะคิดว่าขวดโค้กที่ทุกคนดื่มแล้วก็ทิ้งจะมีความหมายอันลึกซึ้งขึ้นมาได้ วอร์ฮอลกล่าวไว้ในหนังสือ The Philosophy of Andy Warhol: From A to B and Back Again ที่เขาเขียนขึ้นในปี 1975 ว่า “สิ่งที่ยิ่งใหญ่จริงๆ เกี่ยวกับประเทศนี้ก็คือ อเมริกาเป็นผู้เริ่มต้นค่านิยมที่ผู้บริโภคร่ำรวยที่สุด ซื้อของสิ่งเดียวกันกับคนที่จนที่สุดซื้อ นั่นก็คือ โคคา-โคล่า มันคือความเท่าเทียมกัน มีคุณภาพเท่ากันทุกขวด เอลิซาเบธ เทย์เลอร์รู้จัก ประธานาธิบดีรู้จัก ขอทานหรือคนเร่ร่อนก็รู้จัก และคุณเองก็รู้จักเหมือนๆ กัน” (ติดตามอ่านได้ในหนังสือนิทรรศการ Andy Warhol: Pop Art)
เรียกได้ว่าแอนดี้ วอร์ฮอลเป็นไอคอนตัวจริงเพราะไม่ได้มีดีแค่ผลงานแต่สร้างแรงบันดาลใจในเรื่องของความคิดได้อีกด้วย
นิทรรศการ Andy Warhol: Pop Art เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม – 24 พฤศจิกายน ที่ RCB Galleria ชั้น 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก งานนี้รวบรวมผลงานจริงนับร้อยชิ้นให้ดูกันแบบเต็มๆ