Featured Stories
หอมกลิ่นไอดินที่แกลเลอรี Earth Tone ชั้น 3 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก
“การนำดินมาใช้เป็นวัสดุเขียนรูปไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ในงานจิตรกรรมโบราณ ที่ยังคงสร้างเสน่ห์ที่หลงเหลืออยู่คือกลิ่นไอในความงดงาม นั้นเป็นพลังให้ผมจะสานต่อเทคนิคครูช่าง คือการนำดิน หินมาเขียนรูปบนพื้นกาวเม็ดมะขามดินสอพอง ดั่งที่เราจะพบเห็นได้จากงานผนังโบสถ์ในอดีต แต่วันนี้ผมจะนำมาสร้างสรรค์เรื่องราวบันทึกช่วงเวลาของตนสู่งานร่วมสมัย”
นอกจากงานประติมากรรมที่สร้างจากดิน ดินถูกนำมาใช้เป็นวัสดุสำหรับสร้างสรรค์งานจิตรกรรมนับตั้งแต่สมัยโบราณ ภาพเขียนบนผนังวัดภูมินทร์ จ.น่านและวัดใหญ่สุวรรณาราม จ.เพชรบุรีและอีกหลายๆวัด สิ่งนี้ส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับสุพจน์ คุณนานุคุณ ศิลปินจากเชียงใหม่และอีกหนึ่งสมาชิกใหม่ของโซน AIR (Artists in Residence) ชั้น 3 กับคอนเซ็ปต์ CREATE, SHARE, TEACH, LEARN
พจน์ตั้งชื่อแกลเลอรีของเขาว่า Earth Tone ที่ให้บรรยากาศสงบๆ จากการใช้สีโทนธรรมชาติและไฟสลัวๆ ในการตกแต่งห้องซึ่งไปในทิศทางเดียวกับโทนสีของภาพต่างๆ ที่เขาเขียนขึ้น เขาเรียนศิลปะจากมหาวิทยศิลปากรและม.เชียงใหม่เป็นพื้นฐานศิลปะ แต่จุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์การเขียนด้วยดินนั้น ต้องย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 6-7 ปีที่แล้ว พจน์เขียนรูปด้วยสีธรรมชาติ เช่น สีกาแฟ จากนั้นก็เริ่มหันมาสนใจ ทดลองค้นหาดินมาเป็นวัสดุอย่างจริงจัง “การนำดินมาใช้เป็นวัสดุเขียนรูปไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เสน่ห์ที่หลงเหลืออยู่คือกลิ่นไอในความงดงาม นั้นเป็นพลังให้ผมจะสานต่อเทคนิคครูช่างโบราณที่นำดินมาเขียนรูปบนพื้นกาวเม็ดมะขามดินสอพอง ที่เราพบเห็นได้จากงานผนังโบสถ์ในอดีตและปรับเปลี่ยนเรื่องราวมาเป็นงานร่วมสมัย”
จากดินสู่งานศิลป์
หากได้เดินมาชมภาพต่างๆ ในแกลเลอรี Earth Tone จะเห็นว่ามีการใช้โทนสีต่างๆ ดูอบอุ่นด้วยสีที่คลุมด้วยสีน้ำตาลเหลือง น้ำตาลเทาและ และสีน้ำเงินครามซึ่งล้วนมาจากดิน หินและพืชทั้งสิ้น สีของดินถือเป็นความอัศจรรย์ของธรรมชาติอันเกิดจากหลายปัจจัยเช่น อินทรีย์วัตถุในดิน และระดับความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นสีต่างๆ จึงมีแหล่งที่มาที่แตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่ได้ดินมาจากภาคเหนือ เช่น สีเหลืองหางดงจากจังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น
ด้วยเหตุของการงานที่ต้องเดินทางบ่อยครั้ง ทำให้พจน์ได้เห็น สังเกตความต่างของแหล่งดินในที่ต่างๆนำมาศึกษาและทดลองใช้กับการวาด ในการวาดในแต่ละชิ้นงานดินจากต้นแหล่งก็เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้นำมาเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจในผลงานชิ้นนั้นๆ อย่างดินจากถ้ำอชันตาอันเก่าแก่ของประเทศอินเดีย ดินจากสี่สังเวชนียสถานในอินเดียที่พระพุทธเจ้าประสูติ (ณ ลุมพินีวัน) ตรัสรู้ (พุทธคยา) แสดงปฐมเทศนา (สารนาถ) และปรินิพพาน (กุสินารา)
นอกจากความพิเศษของวัสดุที่ไม่ได้หาซื้อได้ง่ายๆ แล้วนั้น แหล่งที่มาของดินนั้นเชื่อมโยงกับเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในภาพอีกด้วย เช่น ภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่แสดงอยู่ในแกลเลอรี Earth Tone มีที่มาจากเขื่อนภูมิพล ซึ่งคำว่า “ภูมิพล” หรือพระนามของพระองค์นั้น แปลว่า “พลังแห่งแผ่นดิน” หากใครอยากทราบว่าดินที่นำมาใช้เขียนแต่ละรูปก่อนที่จะมาแปรสภาพเป็นสีสันต่างๆ มีลักษณะเป็นอย่างไร ที่แกลเลอรี่แห่งนี้ก็มีตัวอย่างให้ชมและศิลปินได้ให้ความสำคัญกับสิ่งนี้มากเพราะเป็นการเคารพและให้เกียรติดินจากแหล่งต่างๆ
กลิ่นไอดินจากธรรมชาติกับความสงบของจิตใจ
การใช้สีจากดินแตกต่างจากสีอะคริลิคหรือสีน้ำมันตรงที่สีดินให้ความรู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติ ลองนึกภาพตอนที่คุณแบกกระเป๋าหนีเมืองใหญ่แล้วไปอยู่ใกล้กับธรรมชาติ เมื่อนอนหลับตายามฝนตกจะได้กลิ่นไอดิน ส่วนระหว่างการเขียนรูปด้วยสีดินก็จะได้ในเรื่องการรออย่างค่อยเป็นค่อยไปในการเปลี่ยนแปลงของสี ความไม่สมบูรณ์พร้อมและนัอมรับการแก้ไขสิ่งที่เกิด นั้นคือธรรมชาติได้สอนเรา
จากการทำงานด้วยวัสดุสีจากธรรมชาติมาหลายปี ผลงานในยุคหลังของพจน์เป็นเรื่องของการทำงานเพื่อเรียนรู้จากภายในมากขึ้น เป็นการทำให้จิตใจสงบและอยู่กับปัจจุบัน ศิลปินคนนี้ยึดหลักธรรมเรื่องกุญแจภาวนาสี่ดอกของหลวงปู่ชา สุภัทโทในการทำงานซึ่งเกี่ยวกับการรู้ เห็น เป็น อยู่
ใครสนใจอยากสัมผัสกับกลิ่นไอดินและงานศิลปะ มาชมผลงานของเขาชิ้นนี้และชิ้นอื่นๆ ได้ในนิทรรศการ Fresh Air รวบรวมผลงานของศิลปินจากโซน AIR (Artists in Residence) จัดแสดงที่ RCB Galleria 1 ชั้น 2 ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม – 28 พฤศจิกายน 2564 เข้าชมฟรี
ส่วนใครอยากเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ กับการทำงานศิลปะด้วยดินซึ่งศิลปินบอกว่าไม่มีพื้นฐานก็สามารถทำได้ ติดตามอัพเดทตารางเวิร์คช็อปในช่วงวันหยุดได้ทาง Facebook: Supot Kunanukun