Featured Stories
Frida Kahlo: Surrealist or Realist?
Frida Kahlo: Surreal or Realist?
หลังจากที่ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Frida Kahlo ได้ฉายไปในวันที่ 5 ธันวาคม พร้อมกับ Talk พิเศษจากสถานทูตเม็กซิโกประจำประเทศไทย วันนี้เราอยากนำเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับไอคอนสาวตัวจี๊ดแห่งวงการศิลปะมาเล่าให้ทุกคนได้ฟัง
ฟรีดาเคยกล่าวไว้ว่า “พวกเขาคิดว่าฉันเป็นศิลปินเซอร์เรียลลิสต์ แต่ฉันไม่ใช่ ฉันไม่เคยวาดเรื่องราวเกี่ยวกับความฝัน แต่ฉันวาดความจริงต่างหาก” (“They thought I was a Surrealist, but I wasn’t. I never painted dreams. I painted my own reality”)
แม้ว่างานของฟรีดา คาห์โลจะโดดเด่นด้วยเอกลักษณ์การวาดภาพเหมือน (self-portrait) และภาพสัญลักษณ์มาแสดงตัวตนของเธอ แต่ก็ยังมีประเด็นหนึ่งที่เคยเป็นที่ถกเถียงกันมากมายว่าแท้จริงแล้ว สไตล์การวาดภาพของเธอคือแนวคิดแบบ ‘เรียลลิสม์’ (Realism) หรือ ‘เซอร์เรียลลิสม์’ (Surrealism) กันแน่ ก่อนที่จะพูดถึงผลงานของคาห์โล เรามาทำความรู้จักกับแนวคิดทั้งสองกันก่อน
‘ศิลปะสัจนิยม’ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ‘เรียลลิสม์’ (Realism) คือศิลปะที่แสดงให้เห็นถึงสัจธรรมของโลกมนุษย์ โดยอิงจากความจริงเป็นหลักโดยไม่ใช้ความรู้สึกส่วนตนมาทำให้ภาพบิดเบือนจากความเป็นจริง มันจึงไม่แปลกหากเราจะเห็นภาพความอัปลักษณ์หรือสิ่งไม่ดีของมนุษย์บนงานศิลปะสัจนิยม เพราะพวกเขาเชื่อว่าศิลปะไม่จำเป็นต้องบิดเบือนความจริงอันแสนโหดร้ายในโลกมนุษย์ให้ดูสวยงามแบบ ‘ศิลปะจินตนิยม’ (Romanticism) ก็ได้
ในขณะเดียวกัน ศิลปะแบบ ‘ลัทธิเหนือจริง’ หรือ ‘เซอร์เรียลซิสม์’ (Surrealism) นั้นมีแนวคิดที่แทบจะต่างกันโดยสิ้นเชิง เอกลักษณ์ของเซอร์เรียลลิสม์คือการเอาสิ่งของที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันมาจัดวางร่วมกันจนทำให้เกิดความเชื่อมโยงทางจินตนาการของผู้มอง หรือการเล่นกับจินตนการและจิตใต้สำนึกของทั้งผู้มองนั่นเอง หนึ่งในศิลปินเซอร์เรียลลิสที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ ซัลวาดอร์ ดาลี (Salvador Dali) จิตรกรชาวสเปนเจ้าของผลงาน The Persistence of Memory ภาพนาฬิกาหลอมละลายที่ทุกคนคงคุ้นเคยกันดี
เมื่อได้ทำความเข้าใจกับศิลปะทั้งสองแนวคิดแล้ว ผลงานของฟรีดา คาห์โลก็ดูเหมือนจะไปตรงกับแนวคิวแบบเซอร์เรียลลิสม์มากกว่า เพราะการนำภาพสัญลักษณ์และวัตถุที่ต่างกันโดยสิ้นเชิงมาใส่ไว้ในภาพเดียวของเธอสามารถทำให้เกิดการตีความมากมายจากจินตนาการของผู้ชม รวมไปถึงการวาดภาพเหนือความจริงมาสื่อถึงความเจ็บปวดภายในจิตใจของเธออย่างเช่น Henry Ford Hospital (The Fly Bed) หรือ Diego and I ก็ต่างบ่งชี้ว่างานของเธอใกล้เคียงกับแนวเซอร์เรียลลิสม์เป็นอย่างมาก แม้กระทั่งอ็องเดร เบรอตง (Andre Beton) ผู้นำลัทธิเซอร์เรียลลิสม์ยังบอกว่าภาพของเธอนั้นตรงกับแนวคิดนี้ ทว่าตัวคาห์โลเองกลับปฏิเสธเพราะถึงแม้ภาพที่เห็นในผลงานของเธอจะดูเกินกว่าความเป็นจริง แต่แนวคิดหรือข้อความที่เธอต้องการจะสื่อกลับอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงทั้งหมด ซึ่งก็คือบริบททางสังคม วัฒนธรรม การเมือง รวมไปถึงความเจ็บปวดภายในใจของเธอ ด้วยเหตุนี้จึงมีอีกนิยามที่ใช้ในการเรียกสไตล์ผลงานของเธอว่าเป็น ‘สัจนิยมมหัศจรรย์’ หรือ ‘แมจิคัลเรียลลิสม์’ (Magical Realism) แนวคิดที่ใช้รูปแบบของแฟนตาซีเหนือธรรมชาติให้ปรากฏอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง แต่ยังดำเนินตามหลักของเหตุและผล
ผลงานที่โดดเด่นของฟรีดา คาห์โลนั้นมีมากมาย แต่ถ้าพูดถึงผลงานที่สะท้อนแนวคิดแมจิคัลเรียลลิสม์ได้ดีที่สุดก็คงเป็น Moses ภาพวาดขนาดใหญ่ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือ Moses and Monotheism ของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) นักจิตวิทยาชื่อดัง ภาพนี้มีส่วนประกอบเป็นเด็กทารก รายล้อมไปด้วยบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ทางการเมือง ศาสนา วัฒนธรรมต่างๆ และตัวของคาห์โลเอง แม้ว่าภาพจะดูเหนือความเป็นจริงอย่างมาก แต่มันสื่อถึงวัฏจักรชีวิต ที่มีทั้งการเกิดและดับของทุกสิ่งบนโลกมนุษย์ เรียกได้ว่าคาห์โลได้สะท้อนสัจธรรมของชีวิตผ่านงานศิลปะของเธอได้อย่างละเอียดถี่ถ้วนเลยทีเดียว
แม้ว่าฟรีดา คาห์โลจะจากโลกใบนี้ไปนานแล้ว แต่พรสวรรค์ในการเป็นศิลปินของเธอยังคงตราตรึงในประวัติศาสตร์ศิลปะจวบจนทุกวันนี้
หากอยากรู้จักตัวตนของฟรีดา คาห์โลมากขึ้น ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘Frida Kahlo’ มาชมภาพยนตร์เรื่อง Frida Kahlo กันได้ในวันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม 2563 ที่ RCB Forum ชั้น 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก เวลา 14:00 น.