Featured Stories
โขนไทย มรดกโลก
กาลเวลาอันยาวนานนับตั้งแต่จุดเริ่มต้น มิได้ทำให้คุณค่าลางเลือนไป หากแต่จะเพิ่มขึ้นและหาได้ยากยิ่งนัก
ชิ้นไฮไลท์จากการประมูลออนไลน์ในรูปแบบ Timed Auction ทั้งสองชิ้นนี้มีความงดงามและพิเศษด้วยเสน่ห์แห่งงานประณีตศิลป์ชั้นสูงของไทย และไม่บ่อยครั้งนักที่ชิ้นงานประเภทนี้จะได้รับการคัดสรรมาให้เหล่านักสะสมได้ครอบครอง
“โขน” ได้รับการยกย่องจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก (UNESCO) ในปีพ.ศ. 2561 ว่าเป็น ‘มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ’ ซึ่งถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยรายการแรกที่ได้รับการขึ้นทะเบียน
โขนมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา (พ.ศ. 1893 – พ.ศ. 2310) หรือราวศตวรรษที่ 14 – 18 ศิลปะการแสดงประเภทนี้ปรากฏในวรรณคดีไทยเรื่องลิลิตพระลอ อีกทั้งมีการบันทึกไว้เป็นลายลักษร์อักษรในสมัยศตวรรษที่ 17 เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศสได้ส่งราชทูตนาม ซิมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de la Loubère) เข้ามาในสยามประเทศ ลา ลูแบร์ ได้บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ในสมัยนั้นไว้ในจดหมายเหตุอันโด่งดังเขาที่มีชื่อว่า ‘Du Royaume de Siam’ (Of The Siam Kingdom) ซึ่งหนึ่งในนั้นได้พรรณนาถึงการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ในสมัยอยุธยา ต่อมาในสมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระราชนิพนธ์ให้ละครหลวงเล่น จนมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ หรือรัชกาลที่ 1 ทรงรวบรวมเรื่องรามเกียรติ์ให้สมบูรณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ ต่อมาในสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์เพื่อให้ละครหลวงเล่น หลังจากนั้นถูกดัดแปลงโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า รัชกาลที่ 6 เพื่อใช้ในการเล่นโขน
ความเป็นมาอันยาวนานนับตั้งแต่สมัยอยุธยามาพร้อมกับศาสตร์ที่เรียกว่างานช่างหัวโขน (ช่างศิราภรณ์) ซึ่งมีความวิจิตรงดงามจากขั้นตอนอันพิถีพิถันและงานช่างหลายแขนง ทั้งช่างปั้น ช่างเขียน ช่างปิดทอง ว่ากันว่าในแผ่นดินของกษัตริย์ควรมีหัวโขนที่งามเลิศไว้ประดับแผ่นดิน อย่างเช่น ในสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 อันเป็นยุคสมัยที่นาฏศิลป์และดนตรีเฟื่องฟูเป็นอย่างยิ่ง
แรกเริ่มนั้นสันนิษฐานกันว่ายังไม่มีการสวมหัวโขนเมื่อมีการแสดง จะมีก็แต่การแต่งหน้าให้กับเหล่านักแสดงแต่ละคนตามบทบาทในเรื่อง แต่ด้วยเนื้อหาของรามเกียรติ์ซึ่งประกอบด้วยตัวละครมากมาย การสวมหัวโขนจึงเข้ามาแก้ไขสิ่งนี้ มีการสร้างหน้ากากจำลองใบหน้าต่างๆ หรือหัวโขนขึ้นมาให้กับตัวละครใช้สวมครอบศีรษะ การสวมหัวโขนทำให้ผู้แสดงไม่สามารถเปล่งเสียงหรือเจรจาได้ จึงจำเป็นต้องมีผู้พากย์ และแต่เดิมนั้นผู้เล่นต้องเป็นผู้ที่มียศถาบรรดาศักดิ์และเป็นผู้ชายเท่านั้น
หัวโขนจากเรื่องรามเกียรติ์แต่ละชิ้นมีลักษณะเฉพาะและบ่งบอกถึงฐานะของตัวละครเพื่อให้ผู้ชมจดจำได้ง่าย เช่น การใช้สีต่างๆ อย่างสีดำ สีขาว สีแดง สีคราม และสีเหลือง เรียกกันว่า สีเบญจรงค์ ซึ่งกำหนดไว้เป็นสีหลัก แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องของสีบนใบหน้าไม่มีข้อจำกัดที่ตายตัว ขึ้นอยู่กับลูกเล่นของช่างเขียน นอกจากสีสัน มีการจำแนกตามลักษณะใบหน้าโดยแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ หน้ามนุษย์และหน้าเทพยดา หน้าอมุษย์ เช่น ยักษ์ และหน้าลิง หน้าสัตว์ต่างๆ
นอกจากนี้ หัวโขนสามารถจำแนกได้ตามลักษณะศิราภรณ์ หรือเครื่องประดับหัวโขนอย่างเช่น มงกุฏรูปแบบต่างๆ อันบ่งบอกถึงฐานะของตัวละคร
ดังเช่นชิ้นไฮไลท์นี้ (ชิ้นด้านซ้าย) หากดูตามลักษณะใบหน้าก็ทราบได้ว่าเป็นพระอิศวรอันเป็นตัวละครหนึ่งจากเรื่องรามเกียรติ์ ด้วยรายละเอียดของใบหน้าที่จัดอยู่ในกลุ่มแรกตามที่กล่าวมา และยอดหัวโขนมีลักษณะเฉพาะแบบที่เรียกว่า มงกุฏยอดน้ำเต้า ส่วนชิ้นด้านขวา ตามศิลปะการประดิษฐ์หัวโขนก็สามารถบอกได้ว่าเป็นหัวโขนของเทวดา
ถึงแม้ว่าทั้งสองชิ้นนี้จัดว่าเป็นชิ้นงานที่ตกแต่งขึ้นมาในยุคหลัง แต่เรื่องราวความเป็นมาของการแสดงโขนและศิลปะการประดิษฐ์หัวโขนนั้นมีมาอย่างยาวนานและควรแก่การอนุรักษ์ไว้ จึงทำให้ทั้งสองชิ้นนี้มีความพิเศษอย่างยิ่งที่นักสะสมไม่ควรพลาดสำหรับการประมูล Timed Auction ทางออนไลน์ http://bitly.ws/uwyh ถึงวันที่ 1 ตุลาคม 18.00 น. (ตามเวลากรุงเทพฯ)
Lot 643 หัวโขนรูปพระอิศวรและเทวดา หัวโขน “พระอิศวร” แทนสมมติเทพองค์พระอิศวร ครูเทพเจ้าผู้สร้างโลกเป็นใหญ่ในหมู่เทพเจ้าทั้งมวล (2 ชิ้น)
สไตล์ไทย-รัตนโกสินทร์ช่วงปลายศตวรรษที่ 20