Featured Stories
The Happy Accidents of the Swing (1767) – Jean-Honoré Fragonard
ภาพ “Les hasards heureux de l’escarpolette” แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า “The Happy Accidents of the Swing” เป็นหนึ่งในผลงานระดับ Masterpiece ที่มีชื่อเสียงที่สุดในประวัติศาสตร์ของศิลปินโรโกโกชาวฝรั่งเศสนามว่า ฌอง-ออนอเร ฟราโกนาร์ เป็นที่รู้จักกันในชื่อสั้น ๆ ว่า “The Swing” ซึ่งมักปรากฏตัวอยู่ในสื่อ Pop Culture ต่าง ๆ มากมายทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นแรงบันดาลในใจการออกแบบรองเท้าของดีไซน์เนอร์อย่าง Manolo Blahnik หรือถูกใช้อ้างอิงในฉากของภาพยนตร์แอนิเมชั่นจากดิสนีย์ที่คว้ารางวัลออสการ์มาแล้วอย่าง Frozen ในตอนที่เจ้าหญิงอันนาร้องเพลง “For the First Time in Forever” อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลายคนอาจจะคุ้นเคยกับภาพ The Swing ซึ่งมักถูกใช้สื่อแทนสัญลักษณ์ของอิสรภาพ ความสวยงาม และแฟชั่น แต่รู้หรือไม่ว่าแท้จริงแล้วภาพ The Swing นั้นก็คือ ‘ภาพเปลือย’ ในช่วงสมัยปี 1700 นั่นเอง! ในระหว่างช่วงปี ค.ศ. 1760 มองซิเออร์ เดอ แซง-ฌูเลีย ชายสูงศักดิ์แห่งประเทศฝรั่งเศส ได้ออกตามหาจิตรกรเพื่อว่าจ้างให้วาดภาพเหมือนของอนุภรรยา แต่ก็ถูกปฏิเสธอยู่หลายครั้งหลายคราด้วยเหตุที่ว่าการมีอนุภรรยานั้นเป็นสิ่งผิดจริยธรรมเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งภาพที่ขอให้วาดก็สื่อถึงความลามกอนาจารเสียจนเหล่านักวาดพากันออกปากปฏิเสธ อย่างไรก็ตาม ฌอง-ออนอเร ฟราโกนาร์ ก็ได้ตอบรับการว่าจ้างและเริ่มต้นวาดภาพ The Swing จนเสร็จในปี ค.ศ. 1767 และแม้ว่าภาพ The Swing นี้จะไม่มีการแสดงเนื้อหนังมังสาให้เห็น แต่มันกลับซ่อนกามารมณ์และความโป๊เปลือยไว้ไปทั่วทั้งภาพผ่านการตีความด้วยทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งของอนุภรรยาบนชิงช้าหรือบุรุษผู้ว่าจ้างที่นอนอยู่ในพุ่มไม้ในตำแหน่งที่มองเห็นอะไรต่อมิอะไรของสตรีที่แกว่งชิงช้าอย่างอิสระเสรี รวมไปถึงนัยยะแอบแฝงของเหล่าเทวดาและพระที่ช่วยแกว่งชิงช้าอยู่ด้านหลัง เริ่มต้นกันที่การใช้ชิงช้าเป็นเชิงสัญลักษณ์ซึ่งเป็นการละเล่นที่มีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นจังหวะ เช่นเดียวกับการเต้นรำหรือการขี่ม้า ซึ่งในทางจิตวิเคราะห์นี้ก็หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์ และเมื่อสังเกตให้ดีจะพบว่าทั้งบุรุษและสตรีในภาพนั้นได้มีการถอดอาภรณ์ไปบางส่วน บุรุษไม่สวมหมวกทำให้ศีรษะเปลือย และสตรีก็ปล่อยให้รองเท้าหลุดลอยไปในอากาศทำให้เท้าเปลือย ซึ่งสองสิ่งที่หลุดออกไปจากตัวทั้งสองนั้นมักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อสื่อถึงอวัยวะเพศของชายหญิงในยุคสมัยนั้นนั่นเอง อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจก็คือฉากหลังที่ฟราโกนาร์เลือกเพื่อการใช้เป็นสถานที่ในการไกวชิงช้า โดยในทางจิตวิเคราะห์นั้น ฉากหลังอันเต็มไปด้วยพุ่มไม้ เถาวัลย์รกรุงรัง และความซับซ้อนมืดมิดของป่าถูกใช้แทนอวัยวะเพศของสตรี ในขณะที่แสงอาทิตย์ซึ่งสาดส่องลงมาตรงใจกลางภาพมีนัยยะที่แฝงถึงการครอบครอง โดย กาสตง บาเซอลาร์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Psychoanalysis of Fire” (การศึกษาธาตุไฟด้วยจิตวิเคราะห์) ก็ได้ลงความเห็นว่า การที่ไฟยึดครองพื้นที่ ๆ หนึ่งนั้นหมายถึงการยึดครองทางเพศ ซึ่งในภาพ The Swing ก็สามารถตีความได้ว่าแสงและความร้อนที่สาดส่องลงมายังหญิงสาวก็มีคุณลักษณะเช่นเดียวกับบุรุษเพศ นอกเหนือจากข้อมูลที่นำมาให้อ่านกันแล้วนั้น ยังมีนัยยะแอบแฝงอีกมากมายที่ฟราโกนาร์ได้ซ่อนเอาไว้ในภาพเพื่อสื่อถึงความรักอีโรติกอย่างสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นการใช้สี สายตาของเหล่าตัวละครในภาพ ปีกของเทวรูป หรือแม้แต่สัญลักษณ์เชิงเรขาคณิตที่สามารถตีความออกมาเป็นการครอบครองทางเพศระหว่างบรุษผู้ว่าจ้างและอนุภรรยาได้ และแม้ว่าภาพ The Swing ในสมัยนั้นอาจถูกมองว่าเป็นการใช้ศิลปะเพื่อสื่อถึงสิ่งผิดจริยธรรม แต่ความอัจฉริยะในการแปรอารมณ์ความรู้สึกเป็นศิลปะผ่านการใช้จิตวิเคราะห์ของฟราโกนาร์ก็ทำให้ภาพ ๆ นี้ของเขาถูกยกย่องเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นโบว์แดงของศิลปะแบบโรโกโกในศตวรรษที่ 18 มาจวบจนถึงปัจจุบัน