Featured Stories
Young Girls (1932) – Amrita Sher-Gil
“ฉันสามารถวาดภาพในอินเดียเท่านั้น ยุโรปน่ะเป็นของปิกาโซ มาติส และบรัก… อินเดียเป็นของฉัน”
เป็นคำพูดของ อมฤตา เชอร์-กิล ศิลปินสาวชาวอินเดียผู้บุกเบิกศิลปะสมัยใหม่ของอินเดียที่เหล่านักวิจารณ์ต่างยกย่องให้เป็นหนึ่งในจิตรกรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของศตวรรษ เชอร์-กิลอุทิศตนและอาชีพของเธอให้กับการบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชนบทของประเทศอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของชีวิตความเป็นอยู่ของผู้หญิงในอินเดียซึ่งจะถูกสื่อผ่านศิลปะของเธอ แต่กว่าจะค้นพบความต้องการที่แท้จริงของตนเองนั้น เชอร์-กิลจะต้องออกค้นหาตัวเองเสียก่อน ครั้นเมื่อมีอายุราว 16 ปี เชอร์-กิลก็ได้เริ่มเข้ารับการศึกษาทางด้านศิลปะที่ Académie de la Grande Chaumière และ École des Beaux-Arts ในเมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่ซึ่งเธอได้ดื่มด่ำกับศิลปะ ปัญญา และโครงสร้างทางสังคมของวัฒนธรรมโบฮีเมียนแห่งเมืองปารีสในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ตั้งแต่ยังเด็ก พรสวรรค์และความสามารถด้านศิลปะของเชอร์-กิลก็ได้รับการสนับสนุนอันดีจากครอบครัวที่ร่ำรวยเงินทองผู้ถือเป็นหนึ่งในสมาชิกของแวดวงสังคมชั้นสูง แม้ในขณะช่วงที่อินเดียยังอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศอังกฤษ และการที่ได้ไปเล่าเรียนในฝรั่งเศสก็ทำให้ผลงานของเธอได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะตะวันตกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสไตล์การวาดของเหล่าศิลปินลัทธิประทับใจยุคหลัง อาทิ โกแกง โมดิเกลียนี เซซานน์ และเรอนัวร์ ภาพวาด “Young Girls” เป็นภาพที่เชอร์-กิลวาดโดยใช้เพื่อนชาวฝรั่งเศสและ อินทิรา น้องสาวของเธอ เป็นต้นแบบ ซึ่งก็ได้กลายมาเป็นผลงานที่นำชื่อเสียงและเกียรติยศมาให้กับเชอร์-กิลอย่างไม่คาดคิด ไม่ว่าจะเป็นการชนะเหรียญทองหรือการได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสมาชิกของสมาคมศิลปะชั้นสูงในปารีสอย่าง The Grand Salon ในปี ค.ศ. 1933 ในวัยเพียง 19 ปีเท่านั้น โดยในขณะนั้น เชอร์-กิลยังเป็นสมาชิกที่มีอายุน้อยที่สุดและเป็นสมาชิกชาวเอเชียเพียงคนเดียวที่ได้ถูกรับเลือกอีกด้วย เหล่านักวิจารณ์มากมายต่างยกย่องให้ภาพ Young Girls เป็นหนึ่งในผลงานที่มีเอกลักษณ์ทางด้านเทคนิคและเป็นหลักฐานที่แสดงถึงความเก่งกาจของจิตรกรสาวผู้นี้ ทั้งสีสันซับซ้อนและเฉดของสีขาวหลากหลายที่เชอร์-กิลเลือกใช้ในการนำเสนอสิ่งที่ต้องการจะสื่อออกไป ซึ่งเป็นผลให้ผู้ที่ได้เห็นผลงานของเธอต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าความสามารถของเชอร์-กิลนั้นเก่งกาจและเชี่ยวชำนาญเกินไปกว่าอายุของเธอเป็นอย่างมาก ทว่าในเวลาต่อมา ความพลุกพล่านที่เพิ่มขึ้นในแถบยุโรปก็ทำให้เชอร์-กิลตัดสินใจกลับบ้านที่ประเทศอินเดียเพื่อสานต่ออุดมการณ์ในการสร้างศิลปะของเธอให้สำเร็จ ซึ่ง ณ ขณะนั้นเอง สไตล์การวาดของเธอก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงอันเป็นผลจากการได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดียแบบดั้งเดิมที่มีต้นแบบมาจาก รพินทรนาถ ฐากูร และ อบานินทรานาถ ฐากูร แต่โชคไม่ดีนักที่เส้นทางการเป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่ของเชอร์-กิลต้องจบลงอย่างกะทันหันเมื่อเธอเสียชีวิตลงในวัย 28 ปีเพียงไม่กี่วันก่อนการเปิดนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเธอ แม้ว่าตัวของเชอร์-กิลจะจากไป แต่ผลงานของเธอก็ยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินชาวอินเดียมากมายจากรุ่นสู่รุ่น เชอร์-กิลได้กลายมาเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของความพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงของศิลปะอินเดียสมัยใหม่ โดยรัฐบาลแห่งประเทศอินเดียได้ประกาศให้ผลงานของเชอร์-กิลเป็นสมบัติทางศิลปะแห่งชาติ อีกทั้งยังมีการห้ามไม่ให้นำผลงานของเธอออกนอกประเทศเพื่อแสดงถึงความภาคภูมิใจของประเทศอินเดีย ปัจจุบันผลงานส่วนใหญ่ของเธอถูกจัดแสดงอยู่ที่ National Gallery of Modern Art ในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย