Imperfection
สถานที่: RCB Galleria 4 ชั้น 2
Imperfection
“ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ”
นี่คือวลีสุดคลาสสิคที่ทุกคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แม้จะเป็นวลีที่หลายคนเห็นด้วยและเข้าใจความหมายของคำกล่าวนี้สักเพียงใด ผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังคงไขว่คว้าหาความสมบูรณ์แบบ และพยายามปกปิดข้อบกพร่องของตัวเองอยู่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคที่เต็มไปการแข่งขัน ผู้คนต่างพัฒนาตนเองให้เร็วที่สุด เก่งที่สุด และดีที่สุด
นิทรรศการ Imperfection เกิดจากการรวมตัวกันของ 5 ศิลปินหญิงมากฝีมือ แจง อรอนงค์ แก้วสมบูรณ์, จีนที พัชราภรณ์ ใบโพธิ์สุวรรณ, แป้ง ต่อสุวรรณ, สุวรรณี สารคณา และ กรรณิการ์ จันทร์สุวรรณ ที่มารวมตัวกันเพื่อตั้งคำถามเกี่ยวกับ ‘ความไม่สมบูรณ์แบบ’ ที่พวกเธอได้ประสบพบเจอมาในชีวิตจริง ทั้งในด้านการใช้ชีวิต การเป็นศิลปิน และบทบาทของการเป็นแม่ ซึ่งสังคมมักจะเรียกร้องความสมบูรณ์แบบจากจากผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งนับว่าไม่บ่อยครั้งนักที่ศิลปินหญิงจะมารวมตัวกันเพื่อจัดนิทรรศการกลุ่มเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของตัวเธอจากปลายพู่กันของตัวเธอเอง
โดยศิลปินหญิงทั้ง 5 ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของพวกเธอผ่านทางคาแรคเตอร์และสไตล์การทำงานอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนเกิดภาพชุดที่เต็มไปด้วยสีสันและจินตนาการ อาทิ สาวน้อยในเมืองเห็ด, หญิงสาวกับตัวตนที่ซ่อนเร้น, เงือกน้อยในสวน, ดอกไม้มหัศจรรย์ และ ลูกครึ่งมนุษย์กับอำนาจวิเศษ
นอกจากนี้พวกเธอยังชวนให้ผู้ชมโอบกอด “ความไม่สมบูรณ์แบบ” ของตัวเอง เพราะการยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบ นั่นคือความสมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง
แจง อรอนงค์ แก้วสมบูรณ์ (เกิดปี 2526) เป็นศิลปินอิสระ ชาวประจวบคีรีขันธ์ ที่สร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรม
และประติมากรรมผ่านทางคาแรคเตอร์เด็กหญิงผู้มีดวงตากลมโตสดใส ที่มีเรื่องราวมากมายซุกซ่อนอยู่มาก
มาย แจงสร้างสรรค์ผลงานจากความสุขที่เธอได้พบเห็นในชีวิตประจำวัน ความทรงจำในวัยเด็กที่เติบโตมา
ในครอบครัวที่มีแต่ผู้หญิง และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม
แจงเคยแสดงผลงานเดี่ยวและกลุ่มทั้งในประเทศและต่างประเทศมากมาย อาทิ นิทรรศการเดี่ยว ‘ความไม่สมบูรณ์แบบ’ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (2558), นิทรรศการกลุ่ม Unknown Asian Art Exchange ณ เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น (2559), Live Painting and Artist Talk ที่ Universitas Negeri Jakarta เมืองจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย (2558) นิทรรศการ Divas ที่ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก (2561) และ นิทรรศการเดี่ยว เหมยฮวา ที่ล้ง 1919 กรุงเทพฯ (2562)
แนวคิด
ผลงานชุด “สาวน้อยในเมืองเห็ด” ได้รับแรงบันดาลใจจากเกมส์ซุปเปอร์มาริโอ้ซึ่งแจงเปรียบเทียบ
การใช้ชีวิตกับการเล่นเกมส์ หลายครั้งที่เราต้องพบเจอกับอุปสรรคและเรื่องที่ไม่คาดฝัน แต่เรา
ก็ต้องฝ่าฟันไปให้ได้ นอกจากนี้แม้ว่าเราจะพยายามมองหาความสมบูรณ์แบบในแต่ละด่าน
ของชีวิตสักเพียงใด แต่สุดท้ายแล้วเราจะพบว่า “ไม่มีสิ่งใดที่สมบูรณ์แบบ” อย่างไรก็ตาม แจงเชื่อว่ามนุษย์เราจะผ่านทุกด่านของชีวิตและก้าวข้ามข้อจำกัดของความไม่สมบูรณ์แบบไปได้ ด้วยพลังพิเศษที่ทุกคนล้วนมีอยู่ นั่นคือ “ใจของเราเอง”
จีนที เกิดปี 2526 จบปริญญาตรีและโทที่มหาวิทยาลัยศิลปากร สาขาทัศนศิลป์ เอกศิลปไทย แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานของเธอมาจากปรัชญาพุทธศาสนา อาทิ ในเรื่องของไตรลักษณ์ ความสั่นไหว ความไม่เที่ยง ความไม่มีตัวตน การเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปของจิต หมุนเวียนเป็นวงล้อของชีวิต จีนทีแสดงเดี่ยวครั้งแรกในงาน Circle of Life ในปี 2561 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ยังมีโอกาสแสดงที่ประเทศญี่ปุ่นอีก 4 ครั้ง ปัจจุบันจีนทียังคงทำงานศิลปะและได้แรงบันดาลใจใหม่ๆ มาจากการเลี้ยงดูลูกทั้งสองคน
แนวคิด
ผลงานชุด “ดอกไม้มหัศจรรย์” ได้อิทธิพลมาจากชีวิตความเป็นแม่ และแนวคิด วะบิ-ซะบิ เป็นปรัชญาที่สอนให้เห็นถึง ความงามในความไม่สมบูรณ์แบบ ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาพุทธศาสนา อาทิ การพิจารณาให้เห็นถึงความไม่จีรัง ความไม่เที่ยง ความสั่นไหว ความไม่มีตัวตน การเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปของจิต ทางสายกลางอริยมรรค
ภาพเขียนของจีนทีเป็นการหล่อมหลอมรวมจิตใต้สำนึกและจิตสำนึก รอยฝีแปรงตั้งแต่ชุ่มเปียกแห้งไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมดแสดงถึงความไม่สมบูรณ์แบบ แต่กลับให้อารมณ์ความรู้สึก มิติ พื้นผิว กระตุ้นประสบการณ์การรับรู้และจิตใต้สำนึก ทำให้จีนทีมองเห็นภาพในใจและสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมร่วมสมัยชุดนี้ออกมา
แป้ง ต่อสุวรรณ (เกิดปี 2524) เป็นศิลปินที่ศึกษาศิลปะด้วยตนเอง เธอจบการศึกษาในระดับปริญญาโท
ด้านการตลาดจากมหาวิทยาลัย Monash ประเทศออสเตรเลีย และเริ่มต้นการทำงานในสายงานโฆษณา แต่ด้วยความรักที่มีต่อศิลปะมาตั้งแต่เด็ก แป้งจึงได้ศึกษาหาความรู้ด้านศิลปะเพิ่มเติมมาโดยตลอด เมื่อปี 2560 แป้งหันมาสนใจงานไฟน์อาร์ตและได้ศึกษาการวาดภาพสีน้ำมันอย่างจริงจัง ปัจจุบันแป้งเป็นศิลปินอิสระซึ่งงานของเธอมักจะถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติและความซับซ้อนของผู้ หญิงในแง่มุมต่างๆอยู่เสมอ
แนวคิด
ผลงานชุด “หญิงสาวกับตัวตนที่ซ่อนเร้น” ได้รับแรงบันดาลใจมาจากปรัชญา ‘วะบิ ซะบิ’ (Wabi Sabi) ของญี่ปุ่น ซึ่งบอกให้เราโอบกอดความไม่สมบูรณ์แบบ แป้งใช้ภาพผู้หญิงที่ทับซ้อนกันอยู่ เพื่อสื่อถึงมิติอันหลากหลายของชีวิต เราทุกคนล้วนมีด้านที่ไม่ชอบเกี่ยวกับตัวเอง อาจเป็นอดีตที่เจ็บปวด ความอ่อนแอ หรือรูปลักษณ์ที่เราไม่พอใจ ในขณะที่เราพยายามจะปกปิดและเก็บซ่อนสิ่งเหล่านั้นไว้ แต่ ‘วะบิ ซะบิ’ กลับเตือนให้เรายอมรับและโอบกอดความไม่สมบูรณ์แบบอย่างเต็มใจ เพราะเมื่อใดก็ตามที่เรายอมรับความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเองได้ เราจะเป็นอิสระ และมองเห็นความงามของชีวิตอย่างแท้จริง
สุวรรณีเกิดที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นคนอีสานที่ชอบวาดภาพตั้งแต่เด็กๆ แม้จะเติบโตจากครอบครัวชาวนา แต่ก็ได้รับการส่งเสริมจากครอบครัวให้เรียนศิลปะจนจบชั้นระดับปริญญาโทที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร
หลังจบการศึกษา สุวรรณีมุ่งมั่นทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง โดยเนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับความรักและความสัมพันธ์ที่อบอุ่นของคนในครอบครัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวในชนบทไทย สุวรรณีเคยจัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวและนิทรรศการกลุ่มทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 100 นิทรรศการ อาทิ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์, การแสดงนิทรรศการกลุ่มของธนาคารยูโอบีที่ Art Stage Singapore และการแสดงนิทรรศการที่หอศิลป์ The City Of Hillsboro Glenn & Viola Walter Culture Arts Center รัฐออริกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา
แนวคิด
ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ลูกสาววัย 6 ขวบ คือแรงบันดาลใจที่สำคัญในการทำงานศิลปะของสุวรรณี เธอทำให้สุวรรณีสนใจวาดภาพนางเงือกน้อยในสวนเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังทำให้สุวรรณีเห็นความสำคัญของความรักความห่วงใยที่สังคมควรมีให้แก่เด็กๆภาพเงือกน้อยในสวนชุดนี้สื่อถึงเด็กน้อยที่ไร้เดียงสาพวกเขาต่างจินตนาการและคิดฝันว่าโลกใบนี้ ช่างงดงามสมบูรณ์แบบ และน่าค้นหา ซึ่งตรงข้ามกับความเป็นจริง อย่างไรก็ตาม สุวรรณีมองว่าแม้เราจะไม่สามารถสร้างโลกที่สมบูรณ์แบบให้กับเด็กๆ ได้ แต่พวกเขาสามารถอยู่ในโลกใบนี้ได้อย่างมีความสุขและปลอดภัย หากพวกเราซึ่งเป็นผู้ใหญ่ได้มอบความรัก ความห่วงใย และเอาใจใส่พวกเขามากพอ
กรรณิการ์ จันทร์สุวรรณ (เกิดปี 2528) ชอบวาดรูปตั้งแต่จำความได้ เธอจบการศึกษาจาก คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2 หลังจบการศึกษา กรรณิการ์ได้มุ่งหน้าสู่วงการศิลปะอย่างเต็มตัว โดยได้ลองถูกลองผิดในการสร้างสรรค์งานหลายรูปแบบ จนกระทั่งได้ค้นพบว่าหัวใจของงานศิลปะคือความคิดสร้างสรรค์และการแสดงความรู้สึก มากกว่าการยึดติดอยู่กับกรอบ หรือรูปแบบทางศิลปะใดๆ ปัจจุบันกรรณิการ์สร้างงานศิลปะที่ถ่ายทอดเรื่องราวจากประสบการณ์ ความคิดและความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเธอเอง
แนวคิด
กรรณิการ์หลงใหลในพลังอำนาจที่เหนือจริงของตัวละครเทพปกรณัมหรือการ์ตูนซุปเปอร์ฮีโร่มาอย่างยาวนาน โดยเรื่องราวเหล่านี้มักจะเริ่มต้นด้วยตัวละครที่เป็นมนุษย์ธรรมดาๆ ที่เปราะบางและเต็มไปด้วยข้อบกพร่อง แต่พยายามที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น แล้ววันหนึ่งก็ได้รับพลังวิเศษที่ทำให้ตนเองแข็งแกร่งเหนือมนุษย์ทั่วไป บางคนแม้ค้นพบพลังนั้นแล้วก็ต้องพัฒนาศักยภาพต่อไปอีกระยะหนึ่งจนกว่าจะถึงขีดสุด พวกเขาจึงมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล
กรรณิการ์ประทับใจในความพยายามของตัวละครเหล่านี้ที่ต้องการพัฒนาตนเองให้เป็นมนุษย์ที่ดีกว่าเดิมจึงได้นำมาเป็นแนวคิดหลักในการสร้างผลงานชุด “ลูกครึ่งมนุษย์กับอำนาจวิเศษ” โดยเธอได้นำตัวละคร อาทิ คนครึ่งนกที่เป็นสัญลักษณ์ของจิตวิญญาณที่โบยบินของอียิปต์, เซลเลอร์มูน มาตีความใหม่ในบริบทของการเดินทางของจิตวิญญาณ