Featured Stories
RCB Portrait Prize 2021: คำถามที่พบบ่อย
คำถามข้อที่ 1: สามารถส่งผลงานภาพวาดที่ทำไว้แล้วมากกว่า 12 เดือนได้หรือไม่
ไม่ได้ RCB Portrait Prize เป็นการประกวดที่จะจัดขึ้นในทุกปี ภาพที่ส่งเข้ามาต้องเป็นภาพที่วาดขึ้นมาในช่วงระยะเวลาภายใน 12 เดือนก่อนวันที่ปิดรับผลงาน ซึ่งก็คือวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เพราะฉะนั้น ผลงานของท่านจะต้องวาดขึ้นในระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ถึง 15 สิงหาคม พ.ศ. 2564 โดยมีบุคคลมานั่งเป็นแบบวาด ณ ขณะนั้น
คำถามข้อที่ 2: “การมีแบบมานั่งให้วาด” หมายความว่าอย่างไร
หมายความว่าศิลปินและผู้เป็นแบบวาดต้องนั่งด้วยกัน อาจเป็นในสตูดิโอ สวน ท้องถนน หรือบ้าน ซึ่งเป็นที่ที่ศิลปินสเก็ตช์ภาพที่ถ่ายทอดว่าบุคคลนั้นเป็นอย่างไร แสดงออกทางสีหน้าอย่างไร วางมือไว้ที่ตำแหน่งใด และตอบสนองกับบรรยากาศรอบๆ อย่างไร หลังจากที่มานั่งเป็นแบบให้วาดครั้งแรก ศิลปินสามารถวาดต่อได้จากภาพที่ถ่ายไว้โดยไม่จำเป็นต้องมีแบบมานั่ง ซึ่งการวาดภาพจากภาพถ่ายเพียงอย่างเดียวไม่สามารถถ่ายทอดสิ่งสำคัญของบุคคลนั้นออกมาได้ อันที่จริงแล้วเราแนะนำให้มีแบบมานั่งวาดมากกว่าหนึ่งครั้งเพื่อผลลัพธ์อันดีเยี่ยมที่สุด
คำถามข้อที่ 3: จำเป็นต้องรู้จักกับบุคคลที่เป็นแบบวาดหรือไม่
จำเป็น ยิ่งบุคคลในภาพมีชื่อเสียงมากเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้ผลงานเป็นที่สนใจในบรรดาสื่อและผู้ที่มาชมนิทรรศการ โปรดอย่าลืมว่าในแต่ละปีจะมีการมอบรางวัล People’s Choice มูลค่า 100,000 บาท ดังนั้น นอกเหนือจากความสามารถด้านศิลปะของคุณ การที่มีแบบวาดเป็นบุคคลที่เป็นที่รู้จักจะช่วยทำให้คุณมีโอกาสคว้ารางวัล People’s Choice ได้มากขึ้นอีกด้วย คุณอาจรู้จักกับบุคคลที่คุณวาด หรือพวกเขาอาจเป็นใครสักคนที่คุณชื่นชม นอกเหนือจากภาพถ่ายผลงานที่คุณวาดและภาพที่บ่งบอกว่ามีแบบมานั่งให้วาดจริง คุณต้องอธิบายกับคณะกรรมการได้ว่าทำไมคุณจึงอยากวาดภาพบุคคลนั้น ยกตัวอย่างเช่น ภาพนั้นเป็นภาพวาดของนักเขียนหนังสือที่คุณชอบอ่าน เป็นต้น
คำถามข้อที่ 4: ทำไมจึงต้องมีการเขียนอธิบายเกี่ยวกับบุคคลผู้เป็นแบบวาด
ศิลปินผู้วาดภาพพอร์ตเทรตที่ดีจะใช้เวลาทำความรู้จักกับผู้ที่เป็นแบบวาดเพื่อถ่ายทอดบุคคลิกลักษณะที่ไม่เหมือนใคร การเผยสเน่ห์นี้ให้ผู้ชมได้เห็นบนผืนผ้าใบคือทักษะของศิลปิน และเราต้องการสื่อสารสิ่งเหล่านี้ให้กับบรรดาสื่อและผู้ที่มาชมนิทรรศการของผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบชิงได้เห็น เพื่อให้พวกเขาทราบว่าศิลปินได้แรงบันดาลใจอะไรจากผู้ที่มาเป็นแบบวาด คุณอาจชื่นชมในหน้าที่การงานของผู้ที่มาเป็นแบบ หรือได้รับแรงบันดาลใจจากผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม เช่น ผู้มีความสำเร็จด้านกีฬา ผู้นำในชุมชนของคุณ หรือการที่พวกเขาทำคุณประโยชน์เพื่อสาธารณชน
คำถามข้อที่ 5: ทำไมจึงเป็นการดีกว่าที่ผู้ที่เป็นแบบวาดเป็นที่รู้จักในหมู่คนทั่วไป
จะมีการซื้อขายภาพวาดทุกชิ้นที่ส่งเข้ามาเพราะนี่คือโอกาสสำหรับศิลปิน ภาพพอร์ตเทรตของบุคคลผู้เป็นที่รู้จักอย่างน้อยจะช่วยเพิ่มมูลค่าและทำให้ราคาขายของผลงานสูงขึ้น
คำถามข้อที่ 6: ภาพที่ส่งเข้าประกวดเป็นภาพของบุคคลมากกว่า 1 คนได้หรือไม่
ได้ คุณสามารถเลือกที่จะวาดบุคคลจำนวนสองคน สามคน หรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับคุณ แต่อย่างน้อยบุคคลเหล่านั้นจะต้องมานั่งรวมกันเพื่อเป็นแบบให้อย่างน้อยสักครั้ง และอย่าลืมบอกเหตุผลว่าทำไมคุณจึงอยากวาดภาพบุคคลเหล่านี้ เช่น เป็นภาพของสามีและภรรยาผู้ประสบความสำเร็จในด้านธุรกิจ เป็นต้น
คำถามข้อที่ 7: สามารถส่งภาพเหมือนตัวเอง (Self-Portrait) ได้หรือไม่
ด้วยสถานการณ์อันยากลำบากในช่วงโควิด คุณสามารถส่งภาพเหมือนตัวเอง (Self-Portrait) ได้
คำถามข้อที่ 8: สามารถวาดภาพจากภาพถ่ายได้หรือไม่
ไม่ได้ ผลงานแต่ละชิ้นที่ส่งเข้ามา อย่างน้อยต้องมีแบบมานั่งให้วาด และต้องส่งรูปภาพที่มีศิลปิน แบบวาด และผืนผ้าใบในภาพเดียวกันมายืนยัน
คำถามข้อที่ 9: สามารถนั่งวาดกับแบบวาดผ่านทาง ZOOM ได้หรือไม่
เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด ซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง การอยู่รวมกับผู้สูงอายุและผู้คนซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยง ในปีพ.ศ. 2564 นี้ เราอนุญาตให้วาดภาพกับแบบผ่านทาง ZOOM ได้เป็นกรณีพิเศษ แต่ต้องแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นการวาดภาพที่มีแบบมานั่งให้วาดจริง และภาพนั้นจะต้องอยู่ในระหว่างการวาดรูปที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ นั่นหมายความว่า คุณจะต้องแนบรูปภาพที่มีภาพของตัวคุณเอง ผืนผ้าใบ และภาพในจอคอมพิวเตอร์ ในเฟรมเดียวกัน ท่าทางของแบบวาดที่ปรากฎผ่านทาง Zoom และในรูปวาดจะต้องมีท่วงท่าเหมือนกัน
คำถามข้อที่ 10: ทำไมจึงต้องส่งภาพถ่ายของคุณในขณะที่กำลังนั่งวาดภาพ
ทักษะของศิลปินผู้วาดภาพพอร์ตเทรต คือความสามารถที่จะถ่ายทอดบุคคลิกลักษณะของผู้ที่มาเป็นแบบวาดบนผืนผ้าใบ ซึ่งการวาดจากภาพถ่ายเพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถทำได้ เราจึงต้องการเห็นภาพของศิลปินและผู้ที่มาเป็นแบบเพื่อยืนยันว่านี่คือผลงานของคุณจริง และคุณสามารถบอกเล่ารายละเอียดถึงผู้ที่มาเป็นแบบวาดได้มากขึ้น ทั้งผู้ชมและสื่อที่มาชมนิทรรศการจะรู้สึกสนใจในเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังภาพเหล่านั้น
คำถามข้อที่ 11: ภาพพอร์ตเทรตที่ส่งมาเป็นภาพถ่ายได้หรือไม่
ไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะมีช่างภาพพอร์ตเทรตฝีมือดีมากมาย แต่นิทรรศการนี้สงวนสิทธิ์เฉพาะสำหรับงานจิตรกรรมเท่านั้น
คำถามข้อที่ 12: ภาพที่ส่งเข้ามามีขนาดใดก็ได้หรือไม่
ชิ้นงานขนาดใหญ่สุดจะต้องมีขนาดไม่เกิน 2.25 ตร.ม. ซึ่งอาจเป็นภาพจิตรกรรมขนาด 1.5 x 1.5 เมตร หรือ 1 x 2.25 เมตร อาจเป็นภาพขนาด 1x 1 เมตร เชื่อมต่อกันสองภาพเป็นต้น อย่างไรก็ตาม ภาพอาจมีขนาดเล็กก็ได้ ซึ่งทางเราไม่มีการจำกัดเรื่องขนาดที่เล็กที่สุด
คำถามข้อที่ 13: สามารถส่งผลงานจากต่างประเทศได้หรือไม่
ไม่ได้ RCB Portrait Prize เป็นการแข่งขันประกวดวาดภาพพอร์ตเทรตครั้งแรกที่จัดขึ้นในประเทศไทย นั่นหมายความว่าคุณต้องอยู่ในประเทศไทยในขณะที่วาดภาพ ซึ่งศิลปินทั้งไทยและต่างชาติสามารถส่งผลงานเข้าประกวดได้
คำถามข้อที่ 14: นอกจากภาพถ่ายผลงานพอร์ตเทรตและภาพที่แสดงให้เห็นว่ามีแบบมานั่งวาด คุณสามารถส่งผลงานจริงเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาได้หรือไม่
ได้ นอกเหนือจากการส่งรูปภาพสองภาพที่กล่าวมาซึ่งประกอบด้วยรูปภาพผลงาน และภาพที่แสดงให้เห็นว่ามีแบบมานั่งวาด ศิลปินสามารถส่งผลงานมาที่ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ได้เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณา ทั้งนี้ศิลปินจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขนส่งผลงานทั้งขาไป-กลับ หากคุณต้องการส่งผลงานจริงมาให้เรา โปรดอีเมลมาแจ้งล่วงหน้าทาง [email protected] และทางเราจะแจ้งข้อปฏิบัติให้ท่านทราบต่อไป
คำถามข้อที่ 15: คณะกรรมการคัดเลือกผู้เข้ารอบสุดท้ายอย่างไร
ในการแข่งขันนี้ คณะกรรมการจะไม่ทราบชื่อของศิลปินแต่ละคน พวกเขาจะเห็นก็แต่ผลงานเท่านั้น ในบางกรณีพวกเขาอาจทราบว่าผู้ที่อยู่ในภาพเป็นใคร อย่างไรก็ตาม พวกเขาจะดูว่าศิลปินสามารถถ่ายทอดบุคคลิกลักษณะของบุคคลผู้นั้นได้ดีแค่ไหน
คำถามข้อที่ 16: หากผลงานได้รับการคัดเลือก จะต้องส่งผลงานได้เมื่อไรและโดยช่องทางใด
ทางคณะกรรมการจะคัดเลือกผู้เข้ารอบชิงผ่านทางรูปผลงานของคุณ ทางเราจะประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ในวันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ผ่านทางอีเมลพร้อมทั้งรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อกจะต้องได้รับผลงานของศิลปินที่ผ่านการคัดเลือกภายในปลายเดือนสิงหาคม ซึ่งทางศิลปินจะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการนำส่งผลงานเอง
คำถามข้อที่ 17: ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก จะรับผิดชอบค่าขนส่งผลงานหรือไม่
ไม่ ศิลปินต้องเป็นผู้รับผิดชอบการส่งผลงานมาที่ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ผลงานทุกชิ้นจะถูกจำหน่ายโดยมีศิลปินเป็นผู้ตั้งราคา หากไม่มีผู้ซื้อผลงานของคุณ ทางศิลปินจะเป็นผู้รับผิดชอบในการนำผลงานกลับ
คำถามข้อที่ 18: วันสุดท้ายของการกำหนดส่งผลงานคือวันที่เท่าไร
ทางเราต้องได้รับภาพถ่ายผลงานวาดภาพพอร์ตเทรตและภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นว่ามีผู้มานั่งเป็นแบบวาด ภายในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2564
คำถามข้อที่ 19: สามารถวาดภาพพอร์เทรตแบบดิจิทัล โดยใช้เครื่องมือดิจิทัลหรือโปรแกรมดิจิทัลได้หรือไม่?
ไม่ได้ การแข่งขันประกวดวาดภาพพอร์ตเทรตเป็นการประกวดวาดภาพพอร์เทรตที่อิงแบบดั้งเดิม ภาพพอร์ตเทรตต้องวาดจากแบบที่มานั่งให้วาดอย่างน้อยหนึ่งครั้ง วัสดุในการวาดภาพสามารถเป็นสีน้ำมันหรือสีอะคริลิคบนผืนผ้าใบหรือแผ่นไม้ สีน้ำบนกระดาษ หรือ ภาพปะติดสื่อผสม ภาพพิมพ์แกะไม้สำหรับพิมพ์ครั้งเดียว ศิลปินสามารถถ่ายภาพของแบบที่มานั่งให้วาดในตำแหน่งของรูปพอร์ตเทรตและใช้อ้างอิงในการวาดภาพ แต่ว่าภาพพอร์เทรตที่ถูกสร้างโดยอุปกรณ์ดิจิทัล(คอมพิวเตอร์,แล็ปท็อป, แท็บเล็ต หรือโทรศัพท์มือถือ) และโปรแกรมต่างๆจะไม่ถูกพิจารณาสำหรับการประกวดและการจัดนิทรรศการ