เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00 - 20.00 น.

Featured Stories

ภาพเหมือนตัวเองของแวนโก๊ะ

ฟินเซนต์ ฟัน โคค หรือ วินเซนต์ แวน โก๊ะ (Vincent van Gogh, 1853–1890) จิตรกรชาวดัตช์ ผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง และเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก ชั่วชีวิตของแวน โก๊ะได้วาด “ภาพเหมือนตัวเอง” (Self-Portrait) ตลอดช่วงเวลา 4 ปีของชีวิตศิลปินตั้งแต่ ค.ศ.1886 ถึง 1889 ประมาณ 35 ภาพ ส่วนสาเหตุการวาดภาพเหมือนตัวเองจำนวนมากนั้น เป็นเพราะว่าแวน โก๊ะมีฐานะยากจน จึงไม่มีเงินมากพอที่จะไปว่าจ้างคนให้มาเป็นนายแบบหรือนางแบบได้ ดังนั้น การวาดภาพเหมือนตัวเองของแวน โก๊ะนั้น ไม่ได้จงใจจะวาดเพื่อเป็นผลงานชิ้นเอกหรือให้ความสำคัญกับภาพเหมือนนั้น แต่อย่างใด เจตนาและความตั้งใจของแวน โก๊ะ ใช้การวาดภาพเหมือนตัวเองเป็นเพียงการฝึกฝนทักษะการวาดภาพเพื่อพัฒนาฝีมือตนเองเท่านั้น แต่ทว่า ในปัจจุบันนี้ ภาพเหมือนตัวเองจำนวนมากของแวน โก๊ะกลับทำให้การศึกษาด้านประวัติศาสตร์ศิลป์สามารถศึกษาเรียนรู้ชีวประวัติในช่วงเวลาต่าง ๆ ของเขาได้อย่างชัดเจน เป็นเสมือนการบันทึกประวัติชีวิตศิลปินผ่านงานจิตรกรรมที่ทรงคุณค่าและมีความสำคัญยิ่งที่โลกมิอาจลืมเลือน

ในจำนวนภาพเหมือนตัวเองของแวน โก๊ะทั้ง 35 ภาพ สามารถมองเห็นพัฒนาการด้านศิลปะของแวน โก๊ะได้อย่างชัดเจน รวมทั้งสามารถศึกษาถึงความเปลี่ยนแปลงของชีวิต อารมณ์ และรูปแบบการสร้างสรรค์จิตรกรรม ตัวอย่างผลงานภาพเหมือนตัวเองของแวน โก๊ะที่เป็นเสมือนตัวแทนแห่งช่วงชีวิตของเขาจำนวน 5 ภาพดังไปนี้ นับเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด และเป็นที่จดจำได้มากที่สุดเช่นกัน

Self-Portrait with Pipe (ภาพเหมือนตัวเองกับไปป์) ภาพ ๆ นี้เชื่อว่า อาจเป็นภาพเหมือนตัวเองภาพแรกในชีวิตศิลปินของแวน โก๊ะในชุดสูทสีดำ และกำลังสูบไปป์ ณ ขณะนั้น เขามีอายุ 33 ปี วาดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม 1886 – มิถุนายน 1886 ซึ่งเป็นช่วงที่แวน โก๊ะเพิ่งเดินทางมาถึงกรุงปารีส และพักอยู่กับกับเธโอผู้เป็นน้องชายในอพาร์ตเมนท์ย่านมงมาร์ต เป็นภาพที่มีขนาดเล็กมาก เพราะใช้วาดเพื่อศึกษาและฝึกฝนทักษะทางจิตรกรรมสีน้ำมันเท่านั้น

Self-Portrait (ภาพเหมือนตัวเอง) วาดขึ้นในช่วงฤดูร้อน ปี 1887 แสดงภาพวาดตัวเองในขณะกำลังสวมหมวกฟางในบุคลิกของชาวชนบท และสวมเสื้อผ้าลำลองแบบที่นิยมสวมใส่ช่วงฤดูร้อน แต่ด้วยความขาดแคลนแผ่นไม้และผ้าใบ ทำให้แวน โก๊ะต้องวาดบนสื่อวัสดุอื่นที่ไม่ใช่ผ้าใบ จนทำให้ภาพนี้ต้องวาดลงบนกระดานไม้ราคาถูก

Self-Portrait (ภาพเหมือนตัวเอง) วาดขึ้นในกรุงปารีส ปี 1887 เป็นภาพเหมือนตัวเองที่แวน โก๊ะใช้สีสันที่สดใสแพรวพราว ตามอิทธิพลของจิตรกรรมแนวใหม่ที่เรียกกันว่า “ลัทธิผสานจุดสี” หรือ พอยติลลิสม์ (Pointillism) เขาทดลองศึกษาความเคลื่อนไหวของเส้น สี และจังหวะ แต่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงพลังแห่งอารมณ์ และเกิดความระยิบระยับของสีสันได้อย่างน่าสนใจ

Self-portrait with bandaged ear and pipe (ภาพเหมือนตัวเองกับผ้าพันแผลที่ใบหูและไปป์) วาดขึ้นในเดือนมกราคม ปี 1889 เป็นภาพแห่งความเศร้าในชีวิตของแวน โก๊ะ ภายหลังมิตรภาพระหว่างเขากับโกแกงสิ้นสุดลง ด้วยความเครียดและคุมสติไม่อยู่ นำไปสู่การตัดใบหูซ้ายของตัวเองด้วยใบมีดโกน ทำให้ในภาพวาดสามารถมองเห็นได้ถึงอารมณ์ที่เศร้าหมอง และจิตใจที่เต็มไปด้วยความสับสน รวมทั้งแววตาที่แสดงถึงความวิตกกังวลปรากฎผ่านสายตาที่เหม่อลอย และผิดปกติอย่างเห็นได้ชัด

Self-portrait (ภาพเหมือนตัวเอง) สันนิษฐานว่า ภาพ ๆ นี้ อาจเป็นการวาดภาพเหมือนตัวเองภาพสุดท้ายของแวน โก๊ะ เขาวาดภาพนี้เมื่อเดือนกันยายน ปี 1889 ซึ่งเป็นช่วงเวลาบั้นปลายชีวิตของเขาที่เมืองแซ็ง-เรมี-เดอ-พรอว็องส์ (Saint-Rémy-de-Provence) เป็นมุมมองด้านข้างของแวน โก๊ะในชุดสูท สายตาที่สับสนมองไปยังเบื้องหน้า รายละเอียดของภาพแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ในการวาดภาพอย่างรวดเร็วฉับพลัน ใช้สีที่หนาหนัก ผ่านฝีแปรงปลายพู่กันที่วาดระบายอย่างรุนแรงราวมีชีวิตชีวา รอยพู่กันก่อเกิดปริมาตรและพื้นผิวอย่างชัดเจน แสดงถึงความพลุ่งพล่านของอารมณ์ที่ยากจะควบคุมบังคับลงได้

บทความโดย
รศ.ปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึก